ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าไปประมูลงานการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย (Distribution Transformer) มูลค่า 100 ล้านบาท และหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง(Power Transformer) ขนาด 150 เมกกะวัตต์ มูลค่า 100 ล้านบาท และผลิต“ตู้คอนเทนเนอร์ น็อคดาวน์"สำหรับเป็นที่พักนักกีฬาจำนวน 200 ยูนิต ยูนิตละ 6 ตัน รวม 1,200 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ภายใต้ บริษัท แอล ดี เอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ผลิตตัวถังหม้อแปลงขนาดใหญ่ และงานผลิตเหล็กคุณภาพสูง รวมมูลค่างานทั้งสิ้นกว่า 300 ล้านบาท โดยบริษัทมีโอกาสได้รับงานค่อนข้างแน่นอนแล้ว
“การเข้าไปเปิดตลาดในประเทศพม่าในครั้งนี้ ถือเป็นฤกษ์ดีสำหรับบริษัทฯ เป็นอย่างมาก โดยยังมีอีกหลายช่องทางในการเข้าไปทำตลาด และคาดว่าในขั้นต้นจะมีผลกำไรที่ดี ซึ่งเป็นไปตามแผนของบริษัทฯ ที่จะมีการปรับหาตลาดใหม่ที่มี Margin สูงขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยจะเน้นไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย" นายสัมพันธ์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการในปี 55 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ปรับลดลงแล้ว และในปี 56 คาดว่าจะเป็นปีที่บริษัทฯ จะมีอัตราการเติบโตที่ดีประมาณ 20-25 % และบริษัทฯ ยังคงมุ่งตลาดในการผลิตหม้อแปลงให้กับโปรเจ็คโซลาร์ฟาร์มอีกหลายแห่ง ถือได้ว่าขณะนี้ บริษัทฯ เป็นผู้ครองตลาดนี้กว่า 70-80 % และในกลุ่มของผู้ผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทนประเภทอื่น ซึ่งบริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดนี้กว่า 40-50 % โดยถ้ารวม 2 กลุ่มนี้แล้ว บริษัทฯ จะมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50-60%
ส่วนบริษัทลูกของ TRT คือ บริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส ที่ทำธุรกิจรถกระเช้าปั้นจั่นไฮดรอลิคขนาดใหญ่ในระบบไฟฟ้า และบริษัท แอล ดี เอส จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตตัวถังหม้อแปลงขนาดใหญ่ และงานผลิตเหล็กคุณภาพสูง คาดว่าในปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตกว่า 20 % ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำรายได้ประมาณ 200 ล้านบาทและ 300 ล้านบาท ตามลำดับ
"ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ บริษัทฯ มีแผนในการเข้าไปประมูลงานต่างๆ ด้วยวงเงินกว่า 3,600 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง 100 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1,500 บาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ 200 ล้านบาท เอกชนภายในประเทศ 900 ล้านบาท ตลาดส่งออก 500 ล้านบาท และอื่น ๆ อีก 400 ล้านบาท คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถชนะการประมูลได้มากว่า 20-25% และขณะนี้บริษัทฯ มียอด Backlog แล้วกว่า 1,300 ล้านบาท"นายสัมพันธ์ กล่าว
นายสัมพันธ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในปี 56 ไว้ที่ 600 ล้านบาทสำหรับขยายกำลังการผลิตหม้อแปลง 280 ล้านบาท ตัวถังเหล็ก 220 ล้านบาท อีก 100 ล้านบาทเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยเงินลงทุนจะมาจากการเสนอขายหุ้นกู้ช่วงกลางปี 55
บริษัทมีแผนจะผลิตหม้อแปลงขนาดเล็กเพิ่มเป็นขนาด 1,000-1,500 MVA และหม้อแปลงขนาดใหญ่เพิ่มเป็น 8,000 MVA จาก 5,000 MVA ส่วนตัวถังเหล็กเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 10,000 ตัน/ปี จาก 5,000 ตัน/ปี โดยกำลังการผลิตใหม่เริ่มเข้ามาในช่วงปลายปี 56 เพื่อรองรับตลาดต่างประเทศที่บริษัทมีแผนจะขยายไปทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต
พร้อมกันนั้น บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 59 แตะ 5,000 ล้านบาท หรือเติบโตปีละ 20-25% ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 33%