สำหรับผลประกอบการในปี 56 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 30% ส่วนรายได้คาดเติบโตราว 15%
นายปิยะ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน 4-5 แห่งเพื่อซื้อหนี้เสียจากสินเชื่อรายย่อยเข้ามาบริหาร ภายใต้เป้าหมายหลักที่บริษัทต้องการซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่มขึ้นปีละ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าการเจรจาจะมีความชัดเจนภายในปีหน้า โดยในเดือน ม.ค.56 น่าจะมีความชัดเจนในการซื้อหนี้อย่างน้อย 1 ราย
บริษัทยังมีแผนจะขยายการบริหารหนี้ไปยังสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จากปัจจุบันที่เน้นการบริหารสินเชื่อส่วนบุคคล(Retail)เป็นหลัก โดยขณะนี้บริษัทได้ยื่นจดทะเบียนตั้ง AMC เพื่อสิทธิในการบริหารหนี้สินประเภทดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาเจรจาค่อนข้างนาน เนื่องจากมีรายละเอียดของการบริหารจัดการสินทรัพย์ค้ำประกัน จึงยังไม่น่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ ดังนั้น ในช่วงนี้บริษัทก็จะอยู่ในขั้นศึกษาและจัดเตรียมบุคลากรก่อน
นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสการบริหารหนี้เสียเพิ่มเติมจากผลของมาตรการรถยนต์คันแรก โดยประเมินว่าจะมีอัตราการเกิดหนี้เสียในระบบประมาณ 20% ของมูลหนี้สินเชื่อซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นการคำนวณจากรายได้เฉลี่ยของประชากรภายใต้มาตรการดังกล่าวที่อยู่ในระดับ 25,000 บาท/เดือนเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้วเชื่อว่ารายได้น่าจะไม่เพียงพอกับรายจ่าย
นายปิยะ กล่าวว่า บริษัทจะเริ่มเข้าไปเจรจากับกลุ่มลิสซิ่งเพื่อเตรียมตัวสำหรับการซื้อหนี้เสียในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาบริหารหลังจากมีการส่งมอบรถแล้วประมาณ 6 เดือน ซึ่งจะเน้นรถยนต์ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงและมีระยะเวลาการผ่อนที่ยาวถึง 60 เดือน
สำหรับผลประกอบการของบริษัทนั้น นายปิยะ เปิดเผยว่า กำไรสุทธิในปี 55 น่าจะเติบโตได้มากกว่า 60% ส่วนรายได้คาดว่าจะเติบโตราว 30% เนื่องจากกลุ่มธุรกิจของบริษัทเติบโตอย่างโดดเด่น ทั้งการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่บริษัทซื้อพอร์ตหนี้ฯเข้ามาบริหารจัดการเอง ธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้สินที่บริษัทรับจ้างมาทำก็มีอัตราการจัดเก็บหนี้ที่ดี และธุรกิจบริหารพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากการรับบริหารหนี้ 80%, ธุรกิจรับจ้างเร่งรัดติดตามหนี้ 19% และอีก 1% มาจากการบริหารสินเชื่อรถจักยานยนต์
ส่วนปี 56 บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตต่อเนื่องราว 30% และรายได้โต 15% โดยบริษัทมีแผนซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารเพิ่มเติมปีละ 1 หมื่นล้านบาท/ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี(56-58) เพื่อขยายพอร์ตการบริหารหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้คาดว่าในปีหน้าจะมีมูลหนี้เพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้าน/ปี ซึ่งจะทยอยสร้างรายได้เป็นระยะเวลา 3 ปีเช่นกัน
นายปิยะ กล่าวว่า ธุรกิจติดตามทวงหนี้ที่ผ่านมามีมุมมองในภาพลบ โดยปัจจุบันสถาบันการเงินที่มีการเจรจาตกลงกันอยู่ในระหว่างดูข้อมูลลูกค้าที่บริษัทฯ จะซื้อว่าที่จำนวนเท่าไหร่ ส่วนภาพรวมธุรกิจรับจ้างเร่งรัดติดตามหนี้สินนั้น ลูกค้ามีการชำระหนี้ดีขึ้น เนื่องจากบริษัทใช้การเจรจาที่ประนีประนอมกับลูกหนี้ ทำให้อัตราการชำระคืนหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ในด้านพนักงานก็มีอัตรา Turnover ต่ำลง เป็นผลจากการที่บริษัทให้ Benefit เป็นหุ้นให้แก่พนักงาน