อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังจะคงเป้าหมายสินเชื่อเติบโตที่ 20-30% ในปี 56 โดยเน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ประกอบกับภาครัฐมีโครงการลงทุนระบบสาธารณปโภคขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ขณะเดียวกัน ธนาคารจะหันมาขยายสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจลิสซิ่ง
สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)สิ้นปี 55 คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารได้เร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และในปี 56 ธนาคารตั้งเป้าลด NPL ให้ต่ำกว่า 3.4%
ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ในปี 55 อยู่ที่ 3.2% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 3.63% เนื่องจากช่วงต้นปีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับค่าธรรมเนียมคุ้มครองเงินฝากที่เก็บจาก B/E อีก 0.07% ทำให้ต้นทุนเพิ่มเงิน แต่ปี 56 ตั้งเป้า NIM ที่ 3.3-3.6% โดยจะพยายามปรับกลยุทธธุรกิจรายย่อยเพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการปรับอัตราเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินกู้ โดยขยายสินเชื่อที่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในปีหน้าธนาคารตั้งเป้ารายได้ดอกเบี้ยเติบโตที่ 25-30% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ตั้งเป้าเติบโต 40-60% เน้นรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ ธุรกิจรายย่อย และ bancassurance
ปัจจุบัน ธนาคารมีระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) ที่ 16% เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกระยะ โดยยังไม่ต้องเพิ่มทุนอีก ซึ่งธนาคารได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมดำเนินการตามมาตรฐานกำกับดูแล บาเซิล 3 ทั้งการเพิ่มทุน และออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ทำให้มองว่าการใช้เกณฑ์ดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบรุนแรงอย่างที่คาด
ด้านการเตรียมออกบริการบัตรเครดิตนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 4/56 ซึ่งล่าช้าจากก่อนหน้านี้คาดว่าเป็นช่วงไตรมาส 1/56 เนื่องจากธนาคารได้มีการปรับกลยุทธและวางระบบไอทีใหม่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งการวางระบบ core banking อีกทั้งการเปิดบริการบัตรเครดิต ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หากไม่ระมัดระวัง จะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นธนาคารต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา
นายสุภัค ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวในอัตรา 4.0-4.5% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณื เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศ คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวลงจากปีนี้ เป็นผลพวงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งโครงการรถคันแรกและบ้านหลังแรกสิ้นสุดลง ด้านการส่งออกจะยังขยายตัวในอัตราชะลอลงด้วย ส่วนดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลดลงจาก 3% มาอยู่ที่ 2.75% จากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่ยังชะลอตัว โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าอยู่ที่ 1.7%
กลยุทธของธนาคารในปี 56 มองการร่วมตัวของกลุ่มประเทศอาเซียนและอินโดจีน ทำให้ธนาคารต้องอาศัยเครือข่ายความเป็นธนาคารอาเซียน ในการนำนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และเชื่อมโยงนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์มาลงทุนในไทย นอกจากนี้การรวมตัวของประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ทั้งออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งยังมองประเทศในอาเซียนน่าลงทุน เห็นได้จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องที่ 4.5% ขณะที่ไทยเองมีสัดส่วนภาระหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีในระดับต่ำ มีฐานะการคลังแข็งแกร่ง และพยายามกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ สนใจที่เข้ามาลงทุนในไทย
และธนาคารจะหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ หลังจากปีนี้ได้มีการปรับปรุงระบบไอทีแล้ว จะมีการปรับปรุงการให้บริการลูกค้ารายย่อย ทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่และบริการใหม่ๆ ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่จะมีการเชื่อมโยงภายในอาเซียน เพื่อเป็นผู้นำนวัตกรรม ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วย