บลจ.ไอเอ็นจี มองทิศทางลงทุนตลาดหุ้นไทยปี 56 เชิงบวก โดดเด่นในภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 7, 2013 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย)เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในปี 56 ของ บลจ.ไอเอ็นจี ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการที่ตลาดหุ้นในเอเชียยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกจากสภาพคล่องทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเดือนละ 85,000 ล้านเหรียญ จากมาตรการ QE3 จำนวน 40,000 ล้านเหรียญ และ QE4 อีก 45,000 เหรียญ

นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การลงทุนในหุ้นยังเป็นอีกทางเลือกที่ยังคงให้ผลตอบแทนที่สูงแก่นักลงทุน รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ การลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศ ด้วยนโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากระดับ 23% ในปี 55 เป็น 20% ในปี 56 ตลอดจนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา-ลดอัตราสูงสุดเหลือ 35% จากเดิม 37% ซึ่งเป็นผลเชิงบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคประชาชน

นายจุมพล กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเดียวกันในแง่การเติบโตของกำไรและมูลค่าตลาดแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจด้วยค่าพีอี เรโช ของตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่การเติบโตของกำไรยังคงเติบโตในระดับที่สูงกว่า โดยคาดการณ์การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่ 19.1% และระดับ PER ที่ 10.5 เท่าในปี 56 (ที่มา: UBS 28 พฤศจิกายน 2012)

และ ตลาดหุ้นไทยยังให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคที่ 3.1% รองจากตลาดหุ้นมาเลเซียและสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมด ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างคาดการณ์ SET Index ในปี 2013 ในเชิงบวกว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และมองว่ามีโอกาสจะปรับตัวขึ้นไปถึง 1,500 จุด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มผลประกอบการที่ดี ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ เช่น กลุ่มพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง

ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 56 ยังคงน่าลงทุนต่อเนื่อง จาก 3 เครื่องมือการขับเคลื่อนหลัก คือ การลงทุนของภาครัฐ การบริโภคของภาคประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ การขยายตัวของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่ยังโตต่อเนื่องจะเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจในตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยเสี่ยงยังคงมาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่มยูโรและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ การลงทุนในปี 56 เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มแวลู (Value Stock) ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูง ได้แก่ กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย แวลู โฟกัส ปันผล สำหรับนักลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง อาจเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความยืดหยุ่นในการลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ ที่สามารถปรับสัดส่วนการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ได้ จะทำให้ลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีในภาวะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย และสามารถสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดีในภาวะที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์

ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ภายใต้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทรงตัว หรือปรับลดลง ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวเหมาะสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุระยะกลาง-ยาว โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้เอเชีย ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วย เนื่องจาก โครงสร้างทางการเงิน และการคลังที่แข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรป และสหรัฐฯ พร้อมทั้ง คาดการณ์ว่าสกุลเงินของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง จึงนับเป็นโอกาสที่จะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศได้อีกด้วย ได้แก่ กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มารเก็ต — ปันผล และกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์รีจินอล บอนด์ ปันผล

บลจ.ไอเอ็นจี คาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจในปี 56 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงกลุ่มประเทศเกิดใหม่อีกหลายๆ ประเทศเป็นหลัก จากการบริโภคภายในประเทศและการเติบโตของภาคการลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการบริโภค การจ้างงานและการลงทุน ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้นำใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตได้ดีจากแรงผลักดันจากการบริโภค และการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ ที่จะช่วยชดเชยการลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในภาวะชะลอตัว

ขณะที่เศรษฐกิจยุโรป เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปยังอยู่ในภาวะอ่อนแอไปจนถึงกลางปี 56 หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจยุโรปด้วยเงื่อนไขที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการตั้งเป้าเพื่อลดขาดดุลทางการคลังที่เข้มงวด ตลอดจนการที่ระดับหนี้สาธารณะและอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 56 คาดว่าการเติบโตจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในระดับ 4.8% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 5.7% อย่างไรก็ตาม ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีความผันผวน ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมาจากการบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออก โดยการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐมาจากโครงการจัดการระบบป้องกันน้ำท่วมมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท และโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ มูลค่าประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ที่จะเริ่มเห็นความคืบหน้ามากขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 2/56 นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็จะช่วยเสริมความเข้มแข็งของภาคการส่งออก ซึ่งจะช่วยชดเชยความเสี่ยงในกรณีที่โครงการลงทุนของรัฐอาจมีความล่าช้าไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ