ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 228,980 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 7, 2013 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (2 — 4 มกราคม 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 228,980 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 76,327 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 42% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 73% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 166,952 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 53,637 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 4,256 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.5 ปี) LB21DA (อายุ 9.0 ปี) และ LB155A (อายุ 2.4 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 11,037 ล้านบาท 9,484 ล้านบาท และ 7,668 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13122A (อายุ 14 วัน) CB13110A (อายุ 28 วัน) และ CB13307A (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 43,655 ล้านบาท 8,707 ล้านบาท และ 8,018 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท อยุธนา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) รุ่น AYCAL145A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 645 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รุ่น CPN156A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 585 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 394 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตราสารอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง +3 ถึง +11 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 1 เดือนปรับตัวลดลงประมาณ 1 Basis Point โดยความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2556 นี้ เป็นการปรับตัวตามตลาดตราสารหนี้ของประเทศสหรัฐฯ เป็นหลัก ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวตามผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) ที่ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน หลังจากที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบในแผนการปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินปันผลและกำไรจากการลงทุน พร้อมกับเลื่อนแผนตัดลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐออกไปอีก 2 เดือน โดยนักลงทุนมองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของการแก้ไขปัญหาหน้าทางการคลัง (Fiscal Cliff) ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่คอยกดดันบรรยากาศการลงทุนอยู่ต่อไป โดยสภาคองเกรสจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งโดยรวมแล้ว ด้วยสถานการณ์และแนวโน้มที่ค่อนข้างเป็นบวก ทำให้มีเม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ และเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้นสามัญในตลาดหุ้น ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น (ราคาพันธบัตรปรับตัวลดลง)

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 10,372 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 1,858 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อชายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงมียอดซื้อสุทธิ 13 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ