ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับและรายได้ประจำจากบริการสาธารณูปโภคที่เติบโตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต่อไปได้ โดยสัดส่วนรายได้ประจำที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบริการสาธารณูปโภค ธุรกิจไฟฟ้า และค่าเช่าโรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานให้แก่บริษัทท่ามกลางความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
เหมราชพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 ณ เดือนสิงหาคม 2555 กลุ่มตระกูลหอรุ่งเรืองถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.0% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นอกจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรูในใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ซึ่งรวมถึงคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 60%-70% ของรายได้รวม ยกเว้นในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่วนรายได้ที่เหลือ 30%-40% เป็นรายได้ประจำซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าโรงงาน
บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 33,535 ไร่ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 บริษัทมีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 804 ราย ซึ่ง 34% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 10% เป็นลูกค้าในกลุ่มปิโตรเคมี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 บริษัทมีพื้นที่เหลือขาย 6,058 ไร่ โดยประมาณ 28% อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (H-ESIE) ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้เป็นประวัติการณ์ โดยบริษัทขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 1,952 ไร่ เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,670 ไร่ในปี 2554 ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ รายงานของ CB Richard Ellis ระบุว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3,675 ไร่ในครึ่งแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้น 56.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกเหนือจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ยอดขายที่ดีดังกล่าวของบริษัทยังเป็นผลมาจากการย้ายโรงงานของบริษัทหลายแห่งหลังจากนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางของประเทศประสบกับปัญหาอุทกภัยในปลายปี 2554
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงแข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจหลักของบริษัทมีการเติบโตในทุกกลุ่ม รายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้น 219.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 2,942 ล้านบาท รายได้ประจำจากการขายสาธารณูปโภคและค่าเช่าก็เติบโตเช่นกันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โดยเติบโต 22.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทำให้รายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เติบโต 78.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 4,637 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 34.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เทียบกับ 28.1% ใน 9 เดือนแรกของปี 2554 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 จึงปรับตัวเพิ่มขึ้น 209.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 2,293 ล้านบาท
รายได้ประจำของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง รายได้จากการขายสาธารณูปโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 68% ของรายได้ประจำในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้น 17.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 1,033 ล้านบาท ปัจจัยที่ผลักดันการเติบโตคือความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจและลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจโรงงานให้เช่าก็เติบโตดีเช่นกัน โดยพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น 50,017 ตารางเมตร
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เติบโตในอัตรา 31% จากพื้นที่เช่าในช่วงสิ้นปี 2554 รายได้ประจำของบริษัทยิ่งแข็งแรงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 เมื่อบริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด (บริษัทถือหุ้น 35%) ซึ่งดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 660 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 บริษัทนี้ให้กำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 132 ล้านบาท (ไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555
โครงสร้างทุนของบริษัทมีการใช้เงินกู้อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอยู่ที่ 50.5% ณ เดือนกันยายน 2555 เมื่อเทียบกับ 48.0% เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ในอนาคตคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนลงทุนจำนวนมาก บริษัทมีงบลงทุนรวม 15,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2555-2556 ซึ่งประกอบด้วย การขยายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการสาธารณูปโภค การลงทุนต่อเนื่องในโครงการเก็คโค่-วัน รวมถึงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) แม้ว่าภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นแต่บริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการขายที่ดินที่รอส่งมอบจำนวนมากและจะได้รับเงินปันผลจากบริษัท เก็คโค่-วัน คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เทียบกับปกติที่ผ่านมาบริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานปีละ 500-1,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางถึงระยะยาวบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ระดับประมาณ 50% ตามนโยบายของบริษัทในขณะที่มีการดำเนินการตามแผนขยายธุรกิจ