นอกจากนี้ เป็นใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ 31 ใบอนุญาต โดย 15 ช่องรายการเป็นช่องรายการโทรทัศน์ทางไกลเพื่อการศึกษาและเป็นช่องรายการของบริษัท ซีทีเอช โฮลดิ้ง(CTH) และ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) คาดว่าจะมีการมอบใบอนุญาตให้แก่ผู้รับใบอนุญาตประมาณสิ้นเดือนมกราคมนี้
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการอนุมัติออกใบอนุญาตทดลองการประกอบกิจการกระจายเสียงไปแล้ว 515 ใบอนุญาตแบ่งเป็นใบอนุญาตวิทยุกระจายเสียงประเภทธุรกิจ 404 ใบอนุญาต ประเภทบริการสาธารณะ 67 ใบอนุญาต และบริการชุมชน 44 ใบอนุญาต โดยจะมีพิธีการมอบให้แก่ผู้รับใบอนุญาตในวันที่ 9 มกราคมนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสท.ยังให้ใบอนุญาตทดลองออกอากาศในระบบดิจิตอลให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยจะเริ่มออกอากาศระบบใหม่วันที่ 30 ม.ค.นี้ รวมทั้งจะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) หลักเกณฑ์การให้ไลเซนส์ทีวีดิจิตอลในวันที่ 8 ม.ค.นี้ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. อนุมัติวันที่ 16 ม.ค. ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา
พ.อ.นที กล่าวว่า กสท.ยังไม่มีข้อสรุปกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยุติการออกอากาศละครเรื่องเหนือเมฆ 2 เนื่องจากต้องรอให้คณะอนุกรรมการกำกับและดูแลเนื้อหาส่งรายละเอียดทั้งหมดให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น เห็นว่าเป็นสิทธิ์ของทางช่อง 3 ที่จะนำละครเรื่องใดมาออกอากาศ หรือจะหยุดออกอากาศ กสท.ไม่ได้มีสิทธิเข้าไปควบคุมในส่วนนี้ได้ โดยเฉพาะการนำมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เข้ามาจัดการ เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหวมาก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
"ตอนนี้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาและผังรายการไปหารายละเอียดเพิ่มเติม อาทิ ทำไมจึงมีการยุติการออกอากาศโดยทันที เพื่อนำรายละเอียดกลับมาเสนอที่ประชุม กสท.พิจารณาภายหลังต่อไป ส่วนทาง กสทช.จะมีหนังสือไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หรือไม่ จะมีความชัดเจนภายหลังที่คณะอนุกรรมการฯให้ข้อมูลและพิจารณาครั้งต่อไปเสร็จสิ้นและยืนยันว่าทางช่อง 3 ยังไม่มีการชี้แจงใดๆในเรื่องดังกล่าวมายัง กสทช." พ.อ.นที กล่าว
สำหรับกรณีที่เครือข่ายผู้บริโภคจะยื่นฟ้องศาลปกครองหาก กสท.ไม่ดำเนินการใดๆ นั้น เป็นสิทธิที่ทำได้อยู่แล้ว แต่กสท.อยากขอความเห็นใจว่ากสท.ไม่สามารถพิจารณาตามกระแสงสังคมได้ทุกเรื่อง เนื่องจากต้องพิจารณารายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน