ซึ่งจะเห็นได้ว่าปี 55 ตัวเลขสินเชื่อโต 9 แสนล้านบาท เทียบกับระดับการระดมทุนในตลาดทุนแค่ 1 แสนกว่าล้านบาท ถือว่ายังห่างมากในแง่เม็ดเงินเมื่อเทียบกับตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ช่องว่างตรงนี้แคบกว่าของไทย
"มองว่าในระยะยาวภาคเศรษฐกิจไม่ควรพึ่งธนาคารทั้งหมด ควรสร้างเสาหลักทางการเงินโดยกระจายไปตลาดทุนด้วย เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกับธนาคารก็ยังมีตลาดทุนอยู่ ขณะที่การระดมทุนในตลาด ต้นทุนทางการเงินก็ถูกกว่าเพราะระดมทุนโดยตรงกับผู้ออมเงิน ขณะนี้บจ.ในตลาดแค่ 500 กว่าบริษัทถือว่าน้อยมากเทียบกับนิติบุคคล 5-6 แสน ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเยอะนักลงทุนต่างประเทศก็สนใจแต่ยังไม่เข้ามา" นายไพบูลย์ กล่าว
อีกทั้ง สนับสนุนให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของการนำรัฐวิสาหกิจเข้ามาจดทะเบียนในตลาด เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้รัฐบาลแล้วยังเป็นการตรวจสอบการทำงานให้เกิดความโปร่งใส เช่น อย่างกรณี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่จะเพิ่มทุนครั้งล่าสุดต้องมีการโรดโชว์กว่า 200 ครั้ง ทำให้โปร่งใสมากขึ้น หรือ บมจ.ปตท. (PTT) จะลดราคาก๊าซก็ต้องประกาศโดยทั่วกัน มีนักวิเคราะห์คอยตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และการขยายตัวของประเทศ "ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นปรับขึ้น 40% เป็นที่หนึ่งในเอเชีย และเป็นที่สองของโลกรองจากตุรกี ซึ่งช่วง 1-2 ปีนี้ถือเป็น timing ที่ดี ภาครัฐต้องมองช่วง 1-2 ปีนี้ในการโปรโมทตลาดทุน ประกอบกับเมื่อเปิด AEC ปลายปี 58 หรือต้นปี 59 ก็กังวลว่าบริษัทใหญ่ๆใน AEC ซึ่งระดมทุนผ่านตลาดทุนทั้งหมด เช่น ในสิงคโปร์ โดยการออกตราสารหนี้ ตราสารทุน ต้นทุนทางการเงินถูกก็จะได้เปรียบกว่าเราที่ส่วนใหญ่กู้จากแบงก์"
ส่วนการกระจายความมั่งคั่ง นายไพบูลย์ กล่าวว่า อยากให้นักลงทุนมองที่เงินปันผลเทียบกับการฝากธนาคาร ปัจจุบันบัญชีเทรดหุ้นในระบบโบรกฯ 7 แสนบัญชี แอคทีฟ 2-3 แสนบัญชีถือว่าน้อยมาก และกองทุนรวมมีแค่ 2 ล้านกว่าก็ยังต่ำ