ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้-คงเครดิตองค์กร"ดั๊บเบิลเอ" ที่ BBB แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 11, 2013 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 8,500 ล้านบาทของ บมจ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ที่ระดับ “BBB" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Negative" หรือ “ลบ" บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้หุ้นกู้ชุดเดิม (AA136A และ AA148A) รวมถึงลงทุนตามแผนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ปรับลดลงซึ่งเกิดจากผลการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอลง แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็น “Stable" หรือ “คงที่" หากบริษัทแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะทำให้ผลประกอบการของบริษัทกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทใช้เวลาในการฟื้นฟูความได้เปรียบด้านต้นทุนและฐานะการเงินนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพและมีการผลิตที่ครบวงจร ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์กระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ" อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนด้านราคาซึ่งเป็นลักษณะโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงอุปสงค์ของกระดาษที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัทที่ยังไม่แล้วเสร็จและธุรกรรมบางรายการระหว่างบริษัทกับบริษัทที่เกี่ยวข้องที่ยังคงมีอยู่ในช่วงการจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัทยังคงเป็นข้อกังวลสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้นำในการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศไทยโดยเป็นเจ้าของโรงงานผลิตกระดาษจำนวน 3 โรงงานซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 473,000 ตันต่อปี และมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรงงานซึ่งมีกำลังการผลิต 427,000 ตันต่อปี โดยประมาณ 85% ของเยื่อกระดาษที่ผลิตได้จะนำมาใช้ภายในเพื่อการผลิตกระดาษของบริษัท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากการจำหน่ายกระดาษคิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือมาจากการจำหน่ายเยื่อกระดาษ รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวในหลายภูมิภาค โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 รายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายภายในประเทศ 35% อีก 65% มาจากการส่งออกซึ่งประกอบด้วยรายได้จากตลาดในภูมิภาคเอเซีย 51% และภูมิภาคอื่น ๆ 14%

ณ เดือนกันยายน 2555 นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 76.2% โดยบริษัทได้ถอนการจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทและกลุ่มบริษัท โดยบริษัทมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคในปี 2552 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยบริษัทจึงต้องเลื่อนแผนดังกล่าวออกไป ในระหว่างปี 2552-2554 กลุ่มบริษัทมีการโอนย้ายและขายสินทรัพย์ระหว่างกันหลายรายการ สำหรับแผนการปรับโครงสร้างของกลุ่มบริษัทนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้งและใช้ระยะเวลานานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2554 อ่อนแอลง แม้ว่าบริษัทจะมีรายได้ค่อนข้างคงที่ที่ 18,317 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทรายงานผลขาดทุนจำนวน 105 ล้านบาทสำหรับปี 2554 การเพิ่มขึ้นของราคาชิ้นไม้สับและเยื่อใยยาวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตกระดาษ ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ 3.8% ในปี 2554 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลง

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้ 14,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และปริมาณการจำหน่ายกระดาษที่เพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์กระดาษนั้น บริษัทเน้นที่กระดาษพิมพ์เขียนโดยเฉพาะกระดาษรีมเล็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อเทียบราคากระดาษพิมพ์เขียนกับราคาเยื่อกระดาษ ราคากระดาษพิมพ์เขียนจะมีราคาที่ค่อนข้างคงที่กว่าโดยเฉพาะภายใต้ตราสินค้า “ดั๊บเบิ้ล เอ" ซึ่งมีสัดส่วนการจำหน่าย 57.2% ของปริมาณการจำหน่ายกระดาษทั้งหมดของบริษัท

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษ 409,364 ตัน เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้น 8.8% เป็น 13,827 ล้านบาท ซึ่งสามารถชดเชยการจำหน่ายเยื่อกระดาษที่ลดลงได้ โดยบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายเยื่อกระดาษ 1,023 ล้านบาท ลดลง 20.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายที่ลดลง 11.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวของปีก่อน เหลือ 52,990 ตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555

อัตรากำไรของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เป็นต้นมาเมื่อบริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพิ่มมากขึ้นสำหรับการเปิดตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกาและยุโรปตะวันออกเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อโรงผลิตกระดาษที่ 3 (PM#3) ของบริษัทเริ่มดำเนินงาน ซึ่งโรงงานผลิตกระดาษแห่งที่ 3 นี้จะเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในกลุ่มด้วยกำลังการผลิตกระดาษขนาด 220,000 ตันต่อปี โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 6,400 ล้านบาท

นอกจากนี้ อัตรากำไรของบริษัทยังถูกกดดันจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาชิ้นไม้สับ ทั้งนี้ ราคาชิ้นไม้สับเพิ่มขึ้น 11.4% ในปี 2554 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดหาไม้และค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาของบริษัทจึงลดลงจาก 14.0% ในปี 2553 เหลือ 8.2% ในปี 2554

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 อัตรากำไรดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 10.7% เนื่องจากต้นทุนชิ้นไม้สับและเยื่อใยยาวลดลงเล็กน้อย นอกจากนี้บริษัทยังลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดของบริษัท อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของบริษัทยังคงต่ำกว่าในอดีตที่บริษัทเคยทำได้ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 15.0% ระหว่างปี 2547 ถึงปี 2551

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจปรับตัวดีขึ้นในอนาคตหากกลยุทธ์การจัดหาวัตถุดิบของบริษัทประสบความสำเร็จ และหากโรงงานกระดาษแห่งใหม่ของบริษัทเริ่มดำเนินงาน ปัจจุบันบริษัทเริ่มจัดหาไม้ตามกลยุทธ์ใหม่โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นกระดาษบนคันนาและบริษัทรับซื้อไม้โดยตรงจากผู้ปลูก กลยุทธ์นี้คาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทและมีปริมาณไม้ที่เพียงพอกับความต้องการของบริษัทในระยะยาว ประโยชน์ดังกล่าวนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นผลได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลดการใช้เยื่อใยยาวโดยจะใช้เฉพาะเยื่อใยสั้นสำหรับการผลิตกระดาษหลังจากที่โรงงานกระดาษแห่งที่ 3 ของบริษัทเริ่มดำเนินงานในปี 2556 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงในช่วงปี 2553-2555 ภาระหนี้เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 13,754 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 เป็น 18,801 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 โดยส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้สำหรับการสร้างโรงงานกระดาษแห่งที่ 3 ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 บริษัทบันทึกส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ของกลุ่มบริษัทที่ประมาณ 3,400 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังอยู่ที่ระดับประมาณ 57% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555