นอกจากนี้ หน่วยงานเอกชนดังกล่าวยังได้กล่าวอ้างว่าข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก IOSA (IATA Operational Safety Audit) คือ มาตรฐาน ด้านความปลอดภัยด้านการบินของ IATA ซึ่งการบินไทยได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยจาก IOSA อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังนั้น การจัดอันดับโดยหน่วยงานเอกชนดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ประชาชนผู้ใช้บริการที่ติดตามข่าวดังกล่าว เข้าใจไปในทางที่ผิดได้ และการจัดอันดับในหัวข้อความปลอดภัยเลวร้ายของสายการบินนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร
THAI ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินธุรกิจการบินเป็นไปตามมาตรฐานสากล และได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการมาโดยตลอด ซึ่งโดยปกติการควบคุมด้านความปลอดภัยในการทำการบินนั้น จะมีหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการขนส่งทางอากาศตามข้อกำหนดสากล เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) และกรมการบินพลเรือนของแต่ละประเทศเป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของการเดินทางทางอากาศที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเที่ยวบิน หรือจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งเกิดขึ้นน้อยมาก จึงทำให้การเดินทางทางอากาศยังเป็นการเดินทางที่มีความปลอดภัยสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ICAO ยังให้ความสำคัญสูงสุดในการบริหารด้านความปลอดภัยแก่ทุกสายการบิน โดยกำหนดให้ทุกสายการบินต้องมีระบบ SMS (Safety Management System) เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมและติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน ซึ่งการบินไทยเป็นสายการบินแรกๆ ที่ได้นำระบบนี้มาใช้จึงทำให้การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยการบินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทฯ ได้มีการกำหนดเป้าหมายด้านความปลอดภัยไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของบริษัทฯ ที่ผ่านมา ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ที่ผ่านมา การบินไทยยังยึดมั่นในเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลอย่างสูงสุด โดยมุ่งเน้นการขนส่ง ผู้โดยสารให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การบินไทยยังผ่านการประเมิน และตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากองค์กรการบินต่างๆ ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน