โบรกเกอร์เห็นพ้องแนะนำ"ซื้อ"ธนาคารกรุงเทพ(BBL)จากแนวโน้มสินเชื่อในปี 56 ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้จะมีอัตราเติบโตชะลอลงบ้างเมื่อเทียบธนาคารอื่นๆ โดยการเติบโตของสินเชื่อ Corporate ได้รับอานิสงส์จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่ช่วยหนุนเนื่องมายังการลงทุนภาคเอกชน ทำให้มีการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ได้มากขึ้น ประกอบกับ ค่าพี/อียังต่ำ ราคาหุ้นไม่แพง และไม่มีความเสี่ยงลงทุน
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.เอเชีย พลัส ซื้อ 245 บล.ไอร่า ซื้อลงทุนระยะยาว 240 บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) ซื้อ 235 บล.เกียนตินาคิน ซื้อ 235 บล.ทรีนิตี้ ซื้อ 234 บล.กรุงศรีฯ ซื้อ 233 บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซื้อ 232 บล.เคทีบี(ประเทศไทย) ซื้อ 231.67 บล.ดีบีเอส ฯย) ซื้อ 225
นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจของ BBL ในปี 56 ยังเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อ Corporate ที่ช่วยสนับสนุนสินเชื่อในปีนี้ให้สามารถเติบโตต่อเนื่องได้ เนื่องจากสินเชื่อของ BBL มาจากธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 50% หากรัฐบาลมีการประมูลงานขนาดใหญ่ออกมามากก็จะทำให้ BBL ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
ล่าสุด BBL ได้ปล่อยสินเชื่อวงเงินสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาทให้ บมจ.เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง(CTH)สำหรับการพัฒนาโครงข่ายบริการเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียม มีผลทำให้ยอดสินเชื่อปี 56 เพิ่มขึ้น คาดว่าทั้งปีนี้สินเชื่อรวมจะเติบโต 7% จากปี 55 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจะเติบโต 7% กำไรสุทธิคาดไว้ที่ 3.57 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 9% จากปี 55 ที่ภาพรวมสินเชื่อเติบโต 9% และเชื่อว่าผลประกอบในไตรมาส 4/55 จะออกมาค่อนข้างดี
แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อปีนี้ส่วนมากมาจากโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ จากการที่รัฐบาลเน้นการลงทุนในด้านนี้ อีกทั้งสินเชื่อส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคที่รัฐบาลมีการลด แลก แจก แถมอยู่ ส่วนสินเชื่อ SMEs จะเป็นลักษณะแบบ Supply Chain มากกว่า
พร้อมแนะนำ “ซื้อ" ราคาพื้นฐาน 235 บาท แม้ว่าจะ upside 20% ก็ยังสามารถซื้อได้
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา มองว่า การเติบโตของ BBL ในปี 56 ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิเติบโตได้ในระดับปานกลาง โดยปี 56 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.77 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 13% จากปี 55 ที่คาดว่ามีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.33 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 22%
ทั้งนี้ BBL ไม่ใช่เป็นหุ้นที่เติบโตสูงมากนักในกลุ่มธนาคาร แต่ข้อสำคัญของBBL อยู่ที่มูลค่าไม่แพง โดยที่ค่า PE อยู่ที่ 1.3 เท่า ซึ่งในหุ้นกลุ่มธนาคารค่า PE อยู่ที่ 1.7 เท่า ในภาวะที่มองว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารหลายตัวขึ้นมามากแล้ว อย่างเช่น KBANK และ SCB ปี 55 เพิ่มขึ้นมา 60% แต่ BBL เพิ่มขึ้นไม่ถึง 30%
“เรามองว่าหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไม่มากและมูลค่ายังไม่สูงเป็นหุ้นที่น่าซื้อในปีนี้ ส่วนหุ้นที่ขึ้นมาเยอะแล้วมีความเสี่ยงสูง ถ้าตลาดหุ้นปรับตัวลงจะมีผลกระทบอย่างมาก ซึ่ง BBL ขึ้นมาไม่เยอะและพื้นฐานถือว่าดี จึงมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นอื่น" นายธนเดช กล่าว
ด้านนายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์ บล.เกียนตินาคิน กล่าวว่า BBL ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดกำไรสุทธิ ปี 56 อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท จากปี 55 อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเพิ่มขึ้น 7% ปีนี้ยังคงเติบโตจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการลงทุนขนาดใหญ่ของเอกชน ซึ่งจะทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมปี 56 เพิ่มขึ้น 8% จากปี 55
“เรามองว่าลักษณะการเติบโตของ BBL ในปี 56 เป็นการเติบโตในลักษณะชะลอตัว เนื่องจากมีฐานสินเชื่อค่อนข้างใหญ่ ทำให้อัตราการเติบโตยังไม่มากเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา แต่โดยรวมแล้วก็ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องได้"นายอดิสรณ์ กล่าว
ขณะที่ประมาณการผลประกอบการไตรมาส 4/55 คาดว่า บริษัทฯมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% QoQ จากสินเชื่อที่เติบโตขึ้น รวมไปถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ทยอยเข้ามาในช่วงปลายปี 55