(เพิ่มเติม) สมาคมบลจ.คาดธุรกิจกองทุนปี 56 โตกว่า 10% รับอานิสงค์ตลาดหุ้น-ผลิตภัณฑ์ใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 14, 2013 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสถาปนะ เลี้ยวประไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนรวมทั้งหมดของไทยในปี 56 จะเติบโตมากกว่า 10% จากปี 55 ที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 2.6 ล้านล้านบาท โดยได้อานิสงส์จากตลาดหุ้นที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,300 จุด หลังจากธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่ใช้มาตรการนโยบายการเงินเชิงปริมาณรอบที่ 4(QE4)และธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำหนดวงเงินซื้อสินทรัพย์เสี่ยง 10 ล้านล้านเยน

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มเติบโตไปต่อได้ แต่คงไม่สูงเร็วมากเท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะในปี 54 ได้มีการอั้นการลงทุนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม และทำให้นักลงทุนมีความกังวลผลกระทบจากความเสียหายที่ตามมา ทำให้ต่อมาในปี 55 มีการเติบโตสูงมาก แต่ในปีนี้ก็จะเติบโตชะลอลงไปบ้าง นอกจากนั้น จากการที่แนวโน้มการลงทุนในอาเซียนยังเป็นบวกในปีนี้ แต่การเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะพม่าและประเทศเพื่อนบ้านจะต้องผ่านประเทศไทย ซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งไปด้วย

ขณะที่ในส่วนของสภาพเศรษฐกิจสหรัฐ มองว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่คงยังไม่ดีขึ้นมากแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และด้านยุโรป ก็มองว่าจะมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่คงยังไม่สามารถกลับมาเป็นบวกได้ในเร็ว ๆ นี้

นายสถาปนะ กล่าวว่า ไม่อยากให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมแต่เฉพาะช่วงปลายปีเพื่อหวังประโยชน์การลดภาษีเท่านั้น เพราะแทนที่จะเป็นผลดีอาจจะกลายเป็นผลเสียที่ได้ผลประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะได้รับในการลงทุนช่วงเวลาอื่นของปี และอยากให้มองเนื้อแท้ของกองทุนว่ามีความน่าสนใจอย่างไร และให้ใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการลงทุนอย่างเหมาะสม

ในปีนี้คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมานำเสนอต่อผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนรวมต่างประเทศ ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าคงได้เห็นความเคลื่อนไหวในเร็วๆ นี้

สมาคมฯ เปิดเผยภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในปี 55 ว่า มีการออกและเสนอขายกองทุนแต่ละประเภทดังนี้ กองทุนที่ลงทุนใน FIX มูลค่า 3.3 แสนล้านบาท จำนวน 704 กองทุน แต่เป็นกองทุนที่ออกมาทดแทนกองทุนเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน 660 กองทุน, กองทุน EQ มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท จำนวน 57 กองทุน เป็นกองทุนใหม่ 17-18 กองทุน

กองทุน PR มูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท เป็นกองทุนที่เปิดใหม่ 6 กองทุน, กองทุน MIX มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท, กองทุนทองคำ มูลค่า 7 พันล้านบาท เป็นกองทุนเปิดใหม่ 9 กองทุน, กองทุนน้ำมัน 5 พันล้านบาท เป็นกองทุนที่เปิดใหม่ 2 กองทุน, OTH 8 พันล้านบาท เป็นกองทุนเปิดใหม่ 26 กองทุน และกองทุน PR234 ราว 1.4 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ