อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง คณะผู้บริหารที่มีความสามารถ และการสนับสนุนที่ได้รับจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ Solvay S.A. (Solvay) แห่งประเทศเบลเยี่ยม และ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความผันผวนตามวัฎจักรของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนราคาวัตถุดิบและสินค้าที่มีความผันผวน และภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการเริ่มดำเนินงานของโรงงานผลิตอีพิคลอโรไฮดริน (Epichlorohydrine -- ECH) ในประเทศไทยและแผนการลงทุนของบริษัทในประเทศจีนด้วย
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการรักษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปได้และไม่มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมพีวีซี โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผู้บริหารของบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการลงทุนใหม่ ๆ
VNT เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโพลีไวนิล คลอไรด์ (Polyvinyl Chloride -- PVC) รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิต 280,000 เมตริกตันต่อปี หรือคิดเป็น 29% ของกำลังการผลิตรวมภายในประเทศ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ECH ซึ่งมีกำลังการผลิต 100,000 เมตริกตันต่อปีด้วย
บริษัทได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากผู้ถือหุ้นหลักอย่างเต็มที่ โดย Solvay ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ PTTGC เป็นผู้จัดหาเอธิลีน (Ethylene) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิต PVC บริษัทมีโรงงานผลิต PVC ที่มีกระบวนการผลิตครบวงจรซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าคู่แข่ง
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิต PVC ที่ระดับ 280,000 เมตริกตันต่อปี โซดาไฟที่ระดับ 366,000 เมตริกตันต่อปี ไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer -- VCM) ที่ระดับ 400,000 เมตริกตันต่อปี และ ECH ที่ระดับ 100,000 เมตริกตันต่อปี โดยโซดาไฟและ VCM ที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการผลิต ECH และ PVC ของบริษัท
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทจำหน่าย PVC ได้ 206,000 เมตริกตัน โซดาไฟ 169,000 เมตริกตัน VCM 74,000 เมตริกตัน และ ECH 28,000 เมตริกตัน ซึ่งปริมาณการจำหน่ายโดยรวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นประมาณ 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเริ่มดำเนินงานโรงงานผลิต ECH ของบริษัทในเดือนกุมภาพันธ์ 2555
ธุรกิจ ECH ดำเนินงานโดย บริษัท แอดวานซ์ ไบโอเคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด (ABT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัท ABT จัดตั้งในปี 2553 และได้รับอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี Epicerol ของ Solvay ในการผลิต ECH ขนาดกำลังการผลิต 100,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งเป็นโรงงานผลิต ECH ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม Solvay สาร ECH เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตอีพ็อกซีเรซิน (Epoxy Resin) ซึ่งใช้เป็นสารเคลือบป้องกันสนิม
นอกจากนั้น อีพ็อกซีเรซินยังใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อากาศยาน และพลังงานทดแทน (กังหันลม) วัตถุดิบของ ECH ได้แก่ กลีเซอรีน โซดาไฟ และกรดไฮโดรคลอริก ABT มีสัญญาระยะกลางในการสั่งซื้อกลีเซอรีนกับผู้ผลิตโอลีโอเคมี (Oleochemicals) ซึ่งกลีเซอรีนเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตโอลีโอเคมี ขณะที่โซดาไฟและกรดไฮโดรคลอริกนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตคลอร์อัลคาไล (Chloralkali) ของบริษัท
บริษัทมีแผนการขยายการผลิต ECH ไปยังประเทศจีนโดยการซื้อกิจการแห่งหนึ่งของ Solvay ซึ่งจะทำการก่อสร้างโรงงานผลิต ECH ในประเทศจีนด้วยกำลังการผลิต 100,000 เมตริกตันต่อปี โดยมีงบประมาณสำหรับการลงทุนทั้งสิ้น 7,200 ล้านบาท ราคาขายของ ECH ในช่วงระหว่างปี 2554-2555 ลดลงอย่างมาก ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนจากโครงการ ECH ใหม่ต่ำกว่าประมาณการ ประเด็นกังวลที่ยังคงอยู่ได้แก่ความสำเร็จในการดำเนินงานของโรงงาน ECH ในประเทศจีนและโอกาสการเติบโตของการใช้ ECH ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจ ECH น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นและจะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัท
ฐานะการเงินของบริษัทยังคงเข้มแข็งซึ่งได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและภาระหนี้สินที่ต่ำ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้ 12,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 19.9% เนื่องจากบริษัทมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรซึ่งทำให้ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาพีวีซีและเอธิลีน อีกทั้งยังมีรายได้จากโซดาไฟซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตคลอร์อัลคาไลของบริษัท
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานถึง 2,546 ล้านบาท แต่มีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ซึ่งนำไปใช้ก่อสร้างโรงงาน ECH ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีสภาพคล่องในระดับสูงซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2554 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
การมีภาระหนี้สินในระดับต่ำจะช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวและสามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะกลางจากการลงทุนของบริษัท เนื่องจากบริษัททำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคสำหรับกลุ่ม Solvay และเปรียบเสมือนเป็นตัวกลางการลงทุนในธุรกิจพีวีซีและ ECH ของกลุ่มเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม