เอกชนจี้รัฐเพิ่มงบ R&D -มีสัมพันธ์ที่ดีเพื่อนบ้านดันไทยเป็นเมืองหลวง AEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 14, 2013 18:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) กล่าวในงานสัมนา CEO AEC หัวข้อ "AEC Forum :พลังเศรษฐกิจ AEC สู่การเป็นเมืองหลวงแห่งอาเซียน"ว่า ไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิภาคในขณะที่ทุกประเทศในอาเซียนต้องการเป็นเมืองหลวงของอาเซียน ที่ผ่านมาไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนโดยไม่ต้องดิ้นรน ดังนั้น คนไทยต้องหันมาเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน อย่างน้อยได้มีการดึงดูดการลงทุนให้เกิดการเข้ามาจัดตั้งในสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยเป็นอันดับแรกก่อน

ประเทศไทยต้องมีการลงทุนอย่างมากด้านวิจัยและพัฒนา(R&D) ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้เห็นความสำคัญเรื่องดังกล่าว แต่งบประมาณการลงทุนด้านนี้เพียง 0.2% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าน้อยมาก ในขณะที่จีน ได้ตั้งงบประมาณวิจัยพัฒนา สัดส่วน 1%ของจีดีพี ดังนั้น คงต้องหันมาเปลี่ยนความคิดที่จะหันมาลงทุน R&D มากขึ้น โดยไทยต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องแรงงานอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องแรงงานฝีมือและแรงงานบริการ

ในส่วน SCG ปี 56 ได้ตั้งงบ R&D จำนวน 2 พันล้านบาท บริษัทได้วาง 2 ยุทธศาสตร์ คือการลงทุนในอาเซียน มีการส่งเสริมให้พนักงานไปทำงานในประเทศแถบอาเซียน และสามารถมีก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ ขณะเดียวกันก็รักษาฐานตลาดในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งต้องการอาศัยการวิจัยและพัฒนา

"ผมได้พบ CEO ของญี่ปุ่น 8 คนที่มาเยี่ยม ซึ่งมีความต้องการมาลงทุนในไทย เป็นรายกลางและรายเล็ก ตอนนี้ญี่ปุ่นอยากมาลงทุนในไทยเยอะมาก แต่กำลังคนที่จะมาทำงาน skilled labour ยังขาดแคลน ดังนั้นการที่จะให้ไทยเป็นเมืองหลวงของอาเซียน ต้องอาศัยเรื่องวิจัยและพัฒนา ต้องสะสมคนเก่ง ดังนั้น ไทยต้องเปิดรับ และสะสมคนเก่งให้มากๆ"นายกานต์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่าประเทศไทยยังมีความได้เปรียบด้านวัฒนธรรม สังคมไทยเป็นสังคมที่มีน้ำใจ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนโดยเฉพาะญี่ปุ่น ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงระบบศุลกากรดีขึ้น ขณะที่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านคงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ดีขึ้น เพราะการเปิด AEC จะต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน

นายกานต์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการลงทุน R&D ยังต้องมีความร่วมมือระหว่งประเทศอาเซียนมากขึ้น มีการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ควบคู่ไปกับการทำ R&D เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ทั้งนี้ มองว่า ผู้ที่ต้องการลงทุนในอาเซียนจะต้องเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง เริ่มที่จะนำสินค้าออกไปขายในต่างประเทศ ถือเป็นการเรียนรู้ที่อาจมีการผิดพลาดกันได้ แต่ทั้งหมดถือว่าเป็นการลองผิดลองถูก

ด้านนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวเป็นเมืองหลวงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ได้นั้น ตัองเปลี่ยนความคิดของคนไทยให้มีความกล้าออกไปแสวงหาโอกาสนอกประเทศ อย่างเช่น สหรัฐฯ , ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่กล้าออกมารุกตลาดต่างประเทศ

อีกทังยังต้องพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทยให้มีการผลิตทรัพยากรมนุษย์ออกมาอย่างมีศักยภาพ โดยต้องสามารถคิด , แก้ปัญหา ,วิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาได้ โดยไม่เน้นที่ให้ใช้หลัการจำอย่างเดียว

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา(R&D)ในประเทศมากขึ้น มีการผลิตนวัตกรรมใหม่ออกมา โดยภาครัฐต้องส่งเสริมและใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนของเงินที่ใช้ใน R&D อยู่ที่ 0.2% ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆมาก อย่างเช่น สิงคโปร์ สัดส่วนอยู่ที่ 2.8% , มาเลเซีย 1.8-1.9% , จีน 1.8%, ญี่ปุ่น 3.4-3.5% , เกาหลีใต้ 3.8%

พร้อมทั้งให้ระวังการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ จากประเทศไทยไปประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการรถยนต์หลายเจ้ากำลังมองฐานการผลิตใหม่อยู่ ซึ่งประเทศอินโดนีเซียเมื่อมีความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นประเทศที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับธุรกิจ จากจำนวนประชากรที่มาก และความต้องการรถยนต์คันแรกในประเทศอินโดนีเซียมีมาก ผู้ผลิตรถยนต์อาจมีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปที่อินโดนีเซียก็สามารถเกิดขึ้นได้

นายสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มธรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด มีการส่งออกมาที่สุด และสามารถเพิ่ม GDP ให้ประเทศมากที่สุด ไม่ใช่เป็นบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ แต่เป็นกลุ่ม SMEs ซึ่งอยากให้มีการส่งเสริมผลักดันให้SMEsเปิดโอกาสให้ตนเองออกไปแข่งขันนอกประเทศ เพื่อสามารถสร้างผลประโยชน์จากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ

ส่วนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวเป็นเมืองหลวงของ AEC ต้องมีความร่วมมือกับอีก 4 ประเทศด้านบน เช่น ลาว เขมร กัมพูชา และเวียดนาม ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ

โดยที่ทุกๆประเทศในอาเซียนต้องลืมความบาดหมางที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเปลี่ยนทัศนคติของตนเองใหม่ จะสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้ และทุกประเทศต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะสามารถร่วมกันเดินหน้าต่อไปได้ซึ่งเราเองต้องหาโอกาสของตัวเองไปพร้อมกันในการรุกตลาดเพิ่มขึ้นด้วย โดยการปลูกฝังจากการศึกษา ตัองกล้าที่จะออกไปแสวงหาโอกาสนอกประเทศ และรู้เท่าทันกฎเกณฑ์ของAEC ด้วย จะทำให้เราสามารถแข่งขันและเดินไปพร้อมกับประเทศอื่นๆได้

ขณะที่ นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีมากขึ้น จะเป็นการช่วยสนับสนุนงานด้านโลจิสติกส์ให้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่AEC นั้นตัองเข้าใจในภูมิภาคอาเซียนด้วย ซึ่งมีความหลากหลายในเรื่องประชากร , วัฒนธรรม ประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร รวมท งสภาพเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายเช่นกัน

ทั้งนี้ถ้าเราต้องการจะเป็นเมืองหลวงของAECเราควรมีการปรับปรุงและพัฒนาการประสานงานในด้านต่างๆให้ดี เช่น การสื่อสาร การขนส่ง และกฎหมาย ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และต้องยุติการทะเลาะวิวาทที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทั้งภายในและภายนอกประเทศ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมองประเทศสมาชิกเหมือนเป็นครอบครัว โดยเมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามาต้องมีการยอมรับและปรับตัวเข้าหากัน และเปิดโอกาสในการแข่งขันอย่างยุติธรรม โดยไม่ก่อให้เกิดข้อพิพาท จะทำให้ประเทศในอาเซียนก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันได้ด้วยดี

หากว่าประเทศไทยต้องการในการเป็นเมืองหลวงของ AEC ต้องสร้างแรงดึงดูดให้มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามา สร้างความคล่องตัวให้มากขึ้น ในเรื่องการบริหารสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มองดูกระแสปัจจุบันของโลก และวางแผนระยะยาว 3-4 ปี ใ นการหาโอกาสขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งต้องทำการศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองเพื่อนำไปปรับใช้ในการแข่งขันด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ