(เพิ่มเติม) ส.ตราสารหนี้ คาดปี 56 ภาคเอกชนออกตราสารหนี้ 3.5 แสนลบ.ลดลงจากปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 15, 2013 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่า ในปี 56 ภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 3.5 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปี 55 ที่มีมูลค่ารวม 5.09 แสนล้านบาท เนื่องจากในปีนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่ออกหุ้นกู้มากเหมือนปีที่แล้วที่สนอขายไปสูงถึง 1.8 แสนล้านบาทเพื่อสำรองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องตามเกณฑ์บาเซิล 3

ขณะที่การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าปี 55 ที่มียอดถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.3% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 54 ที่อยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท หรือปี 55 ยอดถือครองตราสารหนี้ใหม่ของต่างชาติเพิ่มขึ้น 2.8 แสนล้านบาท แต่ปี 56 คาดว่ายอดจะไม่ร้อนแรงหรือสูงเท่าปีก่อน แต่น่าจะอยู่ที่ 1 แสนกว่าล้านบาทได้ เนื่องจากในปีนี้ปัญหาในยูโรโซนและสหรัฐฯ คลี่คลายจึงทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้ไทยน้อยลง

โดยในเดือนม.ค.ยอดซื้อของนักลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ราว 5,000 ล้านบาท

"การถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าปี 55 เพราะดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่านี้ และปัญหาเก่าเรื่องยุโรปก็ซอฟท์ลง ปีนี้จึงไม่ร้อนแรงเท่าปีก่อน แต่ก็คาดว่าจะราว 1 แสนล้านบาท"

ทั้งนี้ปี 55 พันธบัตรรัฐวิสาหกิจออกราว 2.1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการออกโดย ธกส.เพื่อโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งปี 56 ก็ยังคงออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากโครงการนี้โดยตามแผนบริหารหนี้ปี 56 จะมีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 2.42 แสนล้านบาท

นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ปี 56 ความผันวนในตลาดโลกยังมีต่อเพราะความไม่แน่นอนในยุโรป สหรัฐเป็นประเด็นสำคัญในปีนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยยังโตต่อจากการลงทุนภาครัฐจะหนุนตลาดพันธบัตรไทยให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะสภาพคล่องต่างประเทศยังหนุนอยู่

อย่างไรก็ตาม มองครึ่งหลังของปีเรื่องเงินเฟ้อจะเป็นประเด็นกดดันเศรษฐกิจไทยเพราะยิ่งเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามากจะกลับมาประเด็นกดดันในครึ่งหลังหรือเร็วกว่านั้นก็ไตรมาส 2/56 ทำให้แบงก์ชาติต้องให้ความสำคัญกับการเข้ามาดูแลเงินเฟ้อ จากที่มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวหรือไม่หรือกดดอกเบี้ยลง ต้องเปลี่ยนเป็นระวังผลกระทบเงินเฟ้อเพราะค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นจากการปรับค่าแรง การใช้จ่ายในประเทศขยายตัว เม็ดเงินไหลเข้ามาก และการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ