TUF ปลุกแบรนด์รุกโตทั่วอาเซียน ตั้งเป้าดันยอดขาย 3 เท่าภายใน 3 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 17, 2013 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร TUF บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์(TUF)มุ่งเน้นธุรกิจเข้าสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ตลาดที่มีมาตรฐานที่สูงขึ้น วางแผนขยายสินค้าแบรนด์ของตัวเองทั้ง Select, Fisho และ Belotta(อาหารสัตว์เลี้ยง)ในแถบอาเซียนภายใน 3 ปี(ปี 56-58)ตั้งเป้าทำรายได้เติบโต 3 เท่าตัวเป็น 200 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดกลางปีนี้จะเข้าจำหน่ายสินค้าในอินโดนีเซีย ขณะที่หาโอกาสขยายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และ อาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดยุโรปภายใน 3 ปี รอจังหวะดีเข้าซื้อกิจการเพิ่ม แต่ขนาดการลงทุนก็ไม่สูงเท่ากับ MW Bands Holding Group (MWB)
"ในอาเซียนเราให้ความสำคัญการทำแบรนด์ Select , Fisho และ Bellota อย่างเข้มข้น ณ วันนี้เข้าสู่ตลาดเวียดนาม พม่า ลาว เขมรแล้ว และกำลังจะเข้าตลาดอินโดนีเซีย ตรงนี้ยังมี Growth Potential...ในอาเซียนจะเติบโตผ่านแบรนด์ของเรา ทั้งอาหารคน อาหารสัตว์เลี้ยง เพราะตลาดพวกนี้ยังใหม่อยู่ คือเราอยากจะเห็นเติบโตเท่าตัวใน 3 ปีข้างหน้า ณ วันนี้ รายได้จากแบรนด์อยู่ที่ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ เราคาดว่าจะขึ้นไประดับ 200 ล้านเหรียญสหรัฐใน 3 ปีข้างหน้า"นายธีรพงศ์ ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า การขยายธุรกิจในเอเชียจะเป็นการเติบโต Oganic Growth ทั้งนี้ บริษัทมีแบรนด์ที่พัฒนาการเติบโตเอง โดยการขยายกิจการในเอเชียจะเน้นการขยายกำลังการผลิตมากกว่า ขนาดการลงทุนในเอเชียอาจจะไม่ใหญ่ ก็จะทำให้ไม่ตื่นเต้น แต่ก็มีความสำคัญ

"ในเอเชียเราไม่ต้อง acquire อะไร เพราะเป็นประเทศเกิดใหม่เหมือนกันหมด แบรนด์ของเราก็มี จะไปซื้อทำไม ไม่มีอะไรที่ตื่นเต้น แต่เราเข้า(ลงทุน)อยู่แล้ว"ประธานกรรมการบริหาร TUF กล่าว

สำหรับการขยายตลาดในพม่า บริษัทได้เข้าไปทำตลาดแบรนด์ Select และ Fisho อยู่แล้ว ส่วนการตั้งโรงงานผลิตคงต้องรอกฎหมายของพม่าให้ชัดเจนและเอื้อต่อการลงทุนมากกว่านี้ ตอนนี้ยังเร็วเกินไป แต่การค้าเริ่มได้ก่อน ขณะที่ในอินโดนีเซีย ซึ่งได้ติดต่อผู้จัดจำหน่ายสินค้า 3 แบรนด์หลักดังกล่าว คาดว่ากลางปีนี้จะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในอินโดนีเซีย

ขณะที่ตลาดยุโรป บริษัทจะขยายตลาดมากขึ้นจาก 5 ตลาดหลัก คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สาธารณรัฐไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โดยจะขยายเข้าสู่เยอรมัน กลุ่มสแกนดิเนเวีย และ ยุโรปตะวันออก รวมไปถึงแอฟริกาและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มดี

นอกจากนี้ ยังหาโอกาสธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยงในยุโรปด้วย โดยจะเติบโตในรูปแบบเช่นเดียวกับในสหรัฐที่มีครบทั้งธุรกิจปลาทูน่ากระป๋อง ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งลงทุนมาแล้ว 1 ปีกว่าและเติบโตได้ดี

"ในยุโรป เรายังมีแค่อาหารทะเลกระป๋อง แต่ยังไม่ได้เข้าไปทำอาหารทะเลแช่แข็งอย่างจริงจัง พวกนี้อยู่ในกลยุทธ์ของเรา แต่เมื่อไรเราไม่ได้เป็นคนกำหนด ขึ้นอยู่กับเมื่อไร ซึ่งตอบไม่ได้ โดยการลงทุนซื้อบริษัทต้องมีคนมาขายก่อน เราก็ไม่รู้ แต่เชื่อว่าภายใน 3 ปีนี้น่าจะมี เราเชื่อว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่บางทีขนาดอาจจะไม่ใหญ่มากก็คงไม่ตื่นเต้น เท่าไร"นายธีรพงศ์ กล่าว

ส่วนตลาดในประเทศ บริษัทหันมาขยายกำลังการผลิตกุ้งและแซลมอน รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปและเบเกอร์รี่ ซึ่งมี"พาย"เป็นสินค้าเด่น โดยบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าถือหุ้นเกินกว่า 50% ในบมจ.แพ็คฟู้ด(PPC)จากที่ถืออยู่ 49.97%ในปัจจุบัน โดยรอการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น TUF ในวันที่ 28 ม.ค..56

PPC เป็ฯผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปและส่งออกอาหารทะเลและอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้ง คาดว่าการเข้าถือหุ้น PPC เพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้เพิ่มเป็นปีละ 7-8 พันล้านบาทต่อปี และจะทำให้บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกขึ้นเป็น 20% จากเดิม 10% ของประเทศไทย

นอกจากนี้ การลงทุนร่วมกับบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น จำกัดจากญี่ปุ่นในการจัดตั้งบริษัท ทีเอ็มเอซี จำกัด สัดส่วนลงทุนร้อยละ 51:49 เพื่อทำธุรกิจฟาร์มกุ้ง ตั้งเป้ากำลังผลิต 1 หมื่นตัน/ปี ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับการผลิตของบริษัท 1 แสนตัน/ปี แต่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะศึกษาการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง เพื่อสามารถควบคุมกระบวนการผลิตทั้งซัพพลายเชน เพราะทุกวันนี้ผู้ซื้อให้ความสำคัญในเรื่องการเพาะเลี้ยงมาก และต้องการซื้อกับผู้ผลิตที่ให้ความมั่นใจได้ทั้งกระบวนการผลิต ซึ่งจะเป็นจุดแข็งในการทำตลาดต่อไป

"ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่สำคัญของเรา ถ้าดูภาพรวมมีสัดส่วน 10% ในการส่งออก ผมเห็นว่ามึความสำคัญมาก 20-30%ของบริษัท เป็นจุดแข็งของเราคือที่เรามีพาร์ทเนอร์ที่ญี่ปุ่น เป็นตลาดที่ดี มีกำลังซื้อสูง ที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง"นายธีรพงศ์ กล่าว

*วางเป้า 3 ปีรายได้โตแตะ 5 พันล้านเหรียญ

TUF ได้วางแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า(ปี 56-58)ว่ารายได้จะเติบโตปีละ 12-15% โดยปี 56 จะมีรายได้ 1.2 แสนล้านบาทหรือ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 58 เพิ่มเป็น 1.5 แสนล้านบาท หรือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่งบลงทุนในช่วง 3 ปีนี้ตั้งไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 6 พันล้านบาท สูงกว่าปกติที่จะใช้งบปีละ 3 พันล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งนี้ เพื่อนำไปสร้างโรงงานใหม่ 3 แห่ง คือ โรงงานผลิตกุ้งแช่แข็ง โรงงานผลิตปลาแซลมอน โดยสองโรงงานดังกล่าวจะสร้างเสร็จครึ่งหลังปี 57

ส่วนโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปและเบเกอร์รี่ จะสร้างเสร็จในปี 58 ทั้งหมดจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 30-50% รวมทั้งปรับปรุงสายการผลิตให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพดีมากขึ้น รองรับธุรกิจที่ขยายตัวรวมถึงการส่งออก

สำหรับผลประกอบการของปี 55 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17% สูงขึ้นจาก 15% ช่วงก่อนเข้าซื้อกิจการ MWB ในปี 53 แม้ในปีก่อนบริษัทจะประสบเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตกุ้งแช่แข็ง และราคาปลาทูน่าปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ระดับ 2,450 เหรียญ/ตัน แต่ก็ยังสามารถทำกำไรได้ดีขึ้นกว่าปี 54 และคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ดีกว่าปี 54 ที่จ่ายในอัตรา 1.56 บาท/หุ้น

ในปี 56 คาดว่ารายได้จะเพิ่มเป็น 1.2 แสนล้านบาท และจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 17% ขณะที่เจอปัจจัยลบเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินบาทที่แข็งค่าทะลุ 30 บาท/เหรียญ

"เงินบาทแข็งค่า เราก็ต้องปรับตัวไป ข้อเท็จจริง 29 บาทไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราเคยบริหารจัดการ 29 บาทก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร และผมคิดว่าบางครั้งความลำบากก็เป็นโอกาส เพราะอะไรที่ลำบากก็จะลำบากกับทุกๆคน แต่ใครจะรอด เพราะท้าทาย ปีนี้ก็มีค่าแรง 300 บาท เงินบาทแข็งขึ้น...เราก็พยายามที่จะmaintain เรามีเป้าหมาย gross margin ที่ 17% เราพยายามรักษาให้ได้ ก่อนซื้อ MWB ก็มี 15%" ประธานกรรมการบริหาร TUF กล่าว

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ตามภูมิภาค ได้แก่ สหรัฐ 36% ยุโรป 33% ที่เหลือกระจายในภูมิภาคอื่น หากนับตามสินค้า สัดส่วนทูน่ากระป๋องสูงถึง 48-50% กุ้งประมาณ 20% อาหารสัตว์เลี้ยง 7% ซาร์ดีนและแมคคาเรล 5% แซลมอน 4% โดยในช่วง 3 ปีนี้มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่เป็น single digit ปรับเป็น double digit ให้มากขึ้น เช่น อาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มเป็นกว่า 10% ซาร์ดีนและแมคคาเรลหวังเพิ่มเป็น 10% เพื่อให้เกิดความสมดุลกันมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ