"จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ดำเนินการเปิดหีบอ้อยเป็นการชั่วคราวให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2556 โดยใช้โควตาที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้จัดสรรปริมาณอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2555/2556 เพิ่มเติมให้กับโรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวนไม่เกิน 1.50 ล้านตัน และให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 6 ทำการผลิตไฟฟ้าเฉพาะส่งให้โรงงานของโรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมการเปิดหีบอ้อยดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยถือเสมือนว่าผู้ฟ้องคดีที่ 5 และ 6 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนในช่วงเวลาดังกล่าว" คำสั่งฯ ศาลปกครองกลาง ระบุ
คดีนี้นายแสงจันทร์ ศรีพลเมือง, นายกัมพล จวบโชค, นายประเด็จ เข็มธะนู ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยใน จ.เลย, กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย, KSL และบริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด รวม 6 ราย ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดี รวมทั้งสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถขายหรือจำหน่ายผลผลิตอ้อยให้แก่ KSL และบริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด เพื่อจะได้นำผลผลิตอ้อยไปผลิตน้ำตาลทรายได้โดยถูกต้องตามกฎหมายทันที
เนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 พ.ค.53 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ KSL ย้ายกำลังการผลิตจำนวน 1.2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน จาก อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ไปตั้งใหม่ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย และขยายกำลังการผลิตเป็น 2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวัน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี และดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่จนถึงวันนี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่แจ้งคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน