รัฐบาลเชื่อแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านลบ.ช่วยหนุนธุรกิจ-ฟื้นศก.ไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 17, 2013 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองเชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2020 ในการสัมมนา"ธุรกิจก็เติบใหญ่ ชาติไทยก็วัฒนา"ว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนการใช้เงินทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรองรับกับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)

ก่อนหน้านี้ มีรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยที่ได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ แต่ยังไม่ได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ หลังจากที่มีการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยที่ผ่านมาประสบปัญหากับข้อจำกัดของเงินทุนในการลงทุนระยะยาว ซึ่งในครั้งนี้มองว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะเป็นการพัฒนาคมนาคมขนส่ง เพื่อรองรับกับการเป็น AEC ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การขนส่งทางน้ำที่จะเพิ่มและพัฒนามากขึ้น เพื่อจะทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี รองรับกับการพัฒนาของประเทศในอนาคต ซึ่งหากการพัฒนาทำได้สำเร็จจะส่งผลให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

โดยที่ประชุม ครม.สัญจรรอบหน้านี้จะมีการเปิดเผยถึงที่มาของเงิน 2 ล้านล้านบาททั้งจากการกู้, การมีเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยระยะแรกจะชี้ให้เห็นว่าเมื่อทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเวลาอันใกล้นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างไร และจะดีต่อธุรกิจเอกชนอย่างไร และจะมีการแจกแจงว่าจะสามารถคืนหนี้ได้ภายในระยะเวลา 10 ปีนี้ได้ด้วยวิธีใด

นอกจากการเตรียมการพัฒนาระบบการขนส่งแล้ว ภาครัฐยังเตรียมการที่จะพัฒนาเรื่องของภาษีทั้งระบบ, social infrastructure และด้านการศึกษา วัฒนธรรม เพื่อที่จะรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและการแข่งขันของไทยในอนาคต

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์(TUF) แสดงวิสัยทัศน์และมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในทศวรรษ 2020 ว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นภาคที่เข็งแกร่งและเป็นผู้นำในโลก จะเห็นได้จากบริษัทที่มีขนาดใหญ่ในประเทศ เช่น CPF ,THAIBEV, บุญรอดบริวเวอรี่ ที่สร้างรายได้จากมูลค่าการส่งออกกว่า 1 หมื่นล้านล้านบาท

และการที่ไทยต้องการที่จะเป็นผู้นำอาหารโลกอย่างยั่งยืนจะต้องมีการพัฒนา ทั้งความปลอดภัย ปริมาณ และมาตรฐานที่เป็นสากล รวมถึงความยั่งยืนของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ซึ่งมองว่าปัจจุบันมีแรงผลักดันให้เอกชนไทยมีการปรับตัวและพัฒนามองว่าเป็นผลมาจากค่าแรง 300 บาทที่ปรับเพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงานที่ส่งผลให้เอกชนต้องพัฒนาเรื่องของเครื่องจักรโรงงานมากขึ้นเพื่อทดแทนการใช้แรงงาน และต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันในหลายๆประเทศมีการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทรัพยากรที่ปรับตัวลดลง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้ผู้ประกอบการของไทยปรับตัวพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพที่ดีมากขึ้น

ขณะเดียวกันมองว่าสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่พัฒนามากขึ้น จะต้องเปลี่ยนการทำธุรกิจของประเทศไทยใหม่ จากที่แต่ก่อนนี้ประเทศไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าจะต้องเปลี่ยนเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าที่เป็นแบรนด์ของไทยมากขึ้น จะเห็นได้ว่างบประมาณด้านการลงทุนของไทยในการทำการวิจัยและพัฒนามีเพียง 1% เท่านั้น แต่ประเทศที่มีการพัฒนาแล้วจะใช้งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาถึง 10% นอกจากนี้ไทยขาดการประสานระหว่างเอกชนและภาครัฐในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา เพื่อการนำสิ่งที่พัฒนาแล้วได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น(SE-ED) แสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและมุมมองยุทธศาสตร์ของการเติบโตที่มีคุณภาพของเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2020 ว่า ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาเรื่องของการศึกษา และมองว่าผลสัมฤทธิ์การศึกษาของเด็กไทยมีปัญหาในทุกด้าน โดยผลสำรวจที่ออกมามีค่าต่ำกว่า 50% ทุกวิชารวมถึงภาษาไทย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสุขภาพที่เด็กไทยมีปัญหา มองว่าหากมีการแก้ไขก่อนก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้ เช่น เรื่องของกระดูกสันหลังคดกว่า 70% ในเด็กไทย โดยปัจจุบันเด็กไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรทำให้เมื่อเด็กโตขึ้นมาแล้วคุณภาพชีวิตลดลง หากต้องการพัฒนาให้เด็กไทยสามารถที่จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาในหลายด้าน เช่นความต้องการแรงงานของเอกชนหากต้องการแรงงานในด้านไหนมีการตกลงกับภาครัฐเพื่อทำแผนในการศึกษา ก็จะทำให้ทั้งการขาดแคลนแรงงานและ การตกงานจะลดลง

ในขณะเดียวกันมองว่าการจะพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทยจะต้องพัฒนาคนเพื่อรองรับในอนาคต โดยที่ปัจจุบันบริษัทได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลอง ซึ่งมีโรงเรียนกว่า 100 โรงเรียน มีโจทย์ที่ตั้งใจว่าจะต้องสัมฤทธิ์ผล 3 ข้อ คือ 1.ความสัมฤทธิ์ผลทางภาษาอังกฤษ 2.ความสัมฤทธิ์ผลผลทางวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 3. การบ่มเพาะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยมองว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ประเทศจะสามารถพัฒนาไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ