นายชัชชาติ กล่าวว่า การลงนามวันนี้ถือเป็นก้าวแรกของสายสีแดงที่ล่าช้ามานาน ดังนั้น อาจเร่งให้โครงการเสร็จเร็วขึ้นกว่ากำหนด และจะปรับให้สถานีบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟชานเมือง รถเมล์ รถบัส สร้างความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ให้เหมือนแอร์พอร์ตลิงค์ที่สถานีมักกะสันมีปัญหาการเชื่อมต่อเส้นทาง
ส่วนสัญญาที่ 2 คาดว่าจะลงนามในเดือน ก.พ.56 ขณะนี้รอองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) อนุมัติก่อน โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
และสัญญาที่ 3 อยู่ระหว่างหาข้อยุติเรื่องคุณสมบัติของผู้ยื่นซองประกวดราคา เนื่องจากมีบริษัท 2 ราย มีปัญหาที่มีกรรมการอิสระคนเดียวกัน ซึ่งอาจจะต้องเปิดประมูลใหม่ หากเห็นว่าคุณสมบัติขัดกันหรือเดินหน้าต่อไปถ้าพิจารณาแล้วไม่ผิดระเบียบ
"ไจก้า ในฐานะเจ้าของเงินกู้ เห็นว่าตรงนี้ไม่ผิด เพราะกรรมการอิสระไม่ได้เกี่ยวกับการบริหาร แต่ให้มาพิจารณาเรื่องธรรมาภิบาล ไม่ถือว่าฮั้วกัน แต่กฏหมายไทยมีการตีความว่าขัด พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งต้องดูให้ละเอียดเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน" นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นการก่อสร้างตามแนวทางเส้นทางรถไฟสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานีรวมทั้งสิ้น 10 สถานี ระยะทางรวม 26.3 กม. เป็นทางยกระดับ 19.2 กม. ทางระดับพื้น 7.1 กม. ขนาดราง 1 เมตร แบ่งออกเป็น 3 สัญญา สัญญา 1 เป็นงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง
สัญญาที่ 2 จะเป็นงานเกี่ยวกับโครงสร้างทางยกระดับของสถานีรถไฟบางซื่อ-รังสิต รวมสถานีรายทาง และสัญญาที่ 3 จะเป็นส่วนงานวางระบบไฟฟ้า เช่น งานวางราง ระบบอาณัติสัญญาณและ โทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า เป็นต้น