สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินหลัก คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 50 ล้านคน สูงกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 46 ล้านคน เทียบกับปี 55 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 51 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้บริษัทเห็นว่าเมื่อสายการบินไทยแอร์เอเชียที่มีจำนวนผู้โดยสาร 8 ล้านคนย้ายไปท่าอากาศยานดอนเมืองอาจจะทำให้จำนวนผู้โดยสารที่สุวรรณภูมิลดลง แต่จำนวนกลับปรับขึ้นรวดเร็ว เนื่องจากมีสายการบินอื่นเข้ามาเพิ่มเข้ามาให้บริการ ได้แก่ สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินไชน่าเซาท์เทิร์น เป็นต้น
"สนามบินสุวรรณภูมิเราคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 46 ล้านคนในปีนี้ เพราะสายการบินแอร์เอเชียย้ายไปที่ดอนเมือง ซึ่งมีผู้โดยสาร 8 ล้านคน เที่ยวบิน 100 กว่าไฟลท์ แต่ย้ายไปผู้โดยสารก็ยังแน่อน เพราะมีไทยสมายล์ เข้ามาแทนและมี สายการบินไชน่า เซาท์เทิร์นแอร์ไลน์ ที่มีเครื่องบินลำตัวกว้างเข้ามาแทน ทำให้ขนผู้โดยสารเข้ามาได้มาก" นายสมชัย กล่าว
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนคน/วัน จากเดิม 80,000-100,000 คน/วัน โดยเป็นผู้โดยสารจากจีนมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็น ญี่ป่นและเกาหลี ส่วนผู้โดยสารจากประเทศกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนประมาณ 20%
ส่วนจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ที่ 14 ล้านคน
นายสมชัย กล่าวว่า บริษัทเพิ่งปรับประมาณการณ์ดังกล่าวและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวานนี้ หลังจากจำนวนผู้โดยสารสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างมาก รวมทั้งการแข่งขันของสายการบินต่างๆ ทำให้มีการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวอย่างมาก ยิ่งทำให้จำนวนผู้โดยสารขยายตัวเร็วขึ้น
ดังนั้น คาดว่ารายได้ในปี 56 ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตขึ้น ประกอบกับ การแข็งค่าของเงินบาททำให้ช่วยลดภาระหนี้ของบริษัทที่เป็นหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ทำให้โอกาสมีกำไรดีขึ้นจากปีก่อน
อนึ่ง ในงวดปี 55 (สิ้นสุด ก.ย.) AOT มีกำไรสุทธิ 6.49 พันล้านบาท สูงกว่าปี 54 ที่มีกำไรสุทธิ 2.21 พันล้านบาท
นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาแนวทางการคัดเลือกผู้เข้ามาดำเนินโครงการวางระบบส่งน้ำมันทางท่อ (Hydrant) ของสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่มีอยู่ 3 แนวทาง โดยแนวทางแรก บมจ.ปตท. (PTT) เสนอตัวเข้ามาดำเนินการ โดยจะใช้วงเงินลงทุน 3.1 พันล้านบาท เพราะต้องลงทุนแท้งค์น้ำมัน
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งให้ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอยู่แล้วในสนามบินสุวรณภูมิปัจจุบัน และมี AOT ร่วมทุนอยู่ หรืออีกแนวทาง AOT จะดำเนินการเอง ซึ่งสองแนวทางจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1 พันล้านบาท เพราะมีแท้งค์น้ำมันอยู่แล้ว และหาก AOT ดำเนินการเอง ก็ไม่ต้องกังวลจะต้องเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ รวมทั้งหากให้ PTT ก็ไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
"เราขอดูให้ชัดเจนก่อนทั้งทางด้านกฎหมาย และเทคนิคในการเชื่อมต่อ...จะสรุปในการประชุมบอร์ดครั้งหน้าในเดือนก.พ."นายสมชัย กล่าว
ทั้งนี้ AOT ต้องเร่งโครงการดังกล่าวเพื่อให้เสร็จก่อน ส.ค. 57 ที่วางแผนให้เริ่มให้ผู้รับเหมาเข้าไปก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2