ขณะนี้บริษัทมีมูลค่างานในมือ(backlog)มากเป็นประวัติการณ์ถึง 162,908 ล้านบาทแล้ว ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ 6-7 ปี และทำให้บริษัทรับรู้รายได้ปีละประมาณ 2.5-3 หมื่นล้านบาท โดยโครงการหลัก ได้แก่ โครงการฝายน้ำล้นไซยะบุรีที่ สปป.ลาว มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาทมีความคืบหน้าโครงการ 10% ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีแล้วเสร็จในปี 63, โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร มูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จประมาณ 3.5 ปี,
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค สัญญาที่ 2 มูลค่า 1.07 หมื่นล้านบาท มีความคืบหน้าไป 29% คาดสร้างเสร็จปี 60 หรือใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ขณะนี้บริษัทพร้อมเดินหัวเจาะเพื่อขุดอุโมงค์ช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเดินหัวเจาะในวันที่ 24 ม.ค.นี้ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัญญาที่ 1 สร้างโครงสร้างทางยกระดับช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท งานคืบหน้า 10% ใช้เวลาก่อสร้างเสร็จ 4 ปีหรือสร้างเสร็จปี 59
และในไตรมาสแรกของปีนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ 2 สัญญาคือ โครงการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับบมจ.รถไฟฟ้าสายสีม่วง มูลค่า 20,775 ล้านบาท และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัญญาที่ 2 งานวางระบบราง มูลค่า 2.500 ล้านบาท รวม 2 สัญญาเป็นวงเงิน 23,275 ล้านบาท
สำหรับทั้งปีนี้บริษัทจะเข้าร่วมงานประมูลของภาครัฐที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าประมาณ 4-5 แสนล้านบาท คาดว่าจะชนะประมูลได้ 20%ของงานที่เข้าร่วมประมูล หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมงานของภาคเอกชน
นายประเสริฐ กล่าวยังถึงการขายเงินลงทุนในบมจ.น้ำประปาไทย(TTW) สัดส่วน 11% ว่า จะทำให้บริษัทกำไรจากการขายเงินลงทุนประมาณ 2.2 พันล้านบาท และจะบันทึกกำไรดังกล่าวในไตรมาสแรกปีนี้ โดยจะนำรายได้และกำไรดังกล่าวไปชำระหนี้บางส่วน ซึ่งจะช่วยให้อัตราหนี้สินต่อทุน(D/E) ลดลงเหลือ 1.5 เท่าจากเดิมสูงถึง 2.9 เท่า คาดหวังว่าการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยให้ในอนาคตมีต้นทุนการเงินจะต่ำลง ปัจจุบันมีภาระอัตราดอกเบี้ย 5.25%
นอกจากนี้ ในปีนี้จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น 2 พันล้านบาทครบกำหนดในมิ.ย. และ อีก 1 พันล้านบาทครบกำหนดในเดือนต.ค. บริษัทจึงเตรียมออกหุ้นกู้ใหม่ แต่เนื่องจากบริษัทมี cashflow มากขึ้น คาดว่าจะออกหุ้นกู้ใหม่ประมาณ 2-2.5 พันล้านบาท อายุ 3 ปี และ 5 ปี คาดจะออกในเดือนมิ.ย. และ ก.ย.นี้
นายประเสริฐ กล่าวว่า บมจ.ซีเค เพาเวอร์ (CKP) เตรียมยื่นไฟลิ่งต่อคณะกรรมการกิจการหลักทรัพย์ ในต้นก.พ. หลังคณะกรรมการบริษัทมีมติเกียวกับการปรับโครงสร้างองค์กร เบื้องต้นคาดเปิดขายหุ้น IPO จำนวน 220 ล้านหุ้น หรือ 20%ของทุนจดทะเบียนได้ในช่วงปลายเดือนมี.ค. หรือ ต้นเม.ย. นี้ โดยจะมาจากหุ้นเพิ่มทุน และหุ้นเดิม การระดมทุนด้วยการขายหุ้น IPO ครั้งนี้บริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ระยะสั้น จำนวนไม่เกิน 1 พันล้านบาท และใข้ในการขยายธุรกิจ