นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากใบอนุญาตที่ กสทช.โดย กทค.อนุมัติให้ THCOM เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมมิใช่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และไม่ต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนน่าจะเกิดจากการนำเอาเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมกับเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มาปนกันทำให้เกิดความสับสน
"ขอยืนยันว่า กสทช. โดย กทค. ได้พิจารณาออกใบอนุญาตดาวเทียมสื่อสารถูกต้องตามกฎหมาย และตามแนวทางการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร นำเสนอ ส่งผลให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกไว้ได้ และจะเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจการดาวเทียมสื่อสารของไทยต่อไป ดังนั้นการที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ จึงควรศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้เข้าใจเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจนเกือบจะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์เหมือนกับกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ที่ผ่านมา" นายสุทธิพล กล่าว
ทั้งนี้ การที่ กทค. อนุมัติใบอนุญาตในครั้งนี้เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ เนื่องจากทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมไว้ได้ ในขณะที่ THCOM ดำเนินการภายใต้มติ ครม.ที่อนุมัติให้รักษาสิทธิวงโคจรและจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นตามข้อกำหนด ITU หาก กสทช.ไม่ดำเนินการอนุมัติใบอนุญาตให้กับ THCOM จะส่งผลทำให้ไม่สามารถดำเนินการติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาดาวเทียมอื่นมาไว้ที่วงโคจรเป็นการชั่วคราวได้ และหากไม่มีดาวเทียมขึ้นให้บริการภายในเวลาที่กำหนด(ตามหลัก ITU) ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ 120 องศาตะวันออกที่ได้รักษาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศไทย