คณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวแต่งตั้งโดยรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว และ บริษัท ไทย-ลาวลิกไนต์ จำกัด ภายใต้ข้อตกลงอันเกี่ยวด้วยกฎหมายอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ(UN Commission on International Trade Law- UNCITRAL) โดยกำหนดสถานที่พิจารณาคดีที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อพิจารณาข้อขัดแย้งอันเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลลาวได้บอกเลิกสัญญาว่าด้วยการสำรวจและการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ เขตหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ที่ให้สิทธิแก่บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ จำกัด ในการศึกษาและสำรวจเพื่อการทำเหมืองและการจำหน่ายถ่านหินลิกไนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และการบอกเลิกสัญญาเพื่อการพัฒนาโครงการที่ให้สิทธิแก่บริษัทในแหล่งแร่ลิกไนต์และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2536
เหตุที่รัฐบาลลาว บอกเลิกสัญญาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าบริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ จำกัด ไม่สามารถทำให้สัมปทานที่ได้รับจากรัฐบาลลาวเริ่มต้นดำเนินการได้สำเร็จ มีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นตลอดมา ซึ่งล้วนเป็นความรับผิดชอบของบริษัทแต่ฝ่ายเดียวทั้งสิ้น จนรัฐบาลลาวเป็นห่วงว่าหากการพัฒนาแหล่งถ่านหินที่เขตหงสา ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่มีความสำคัญมีความล่าช้าไปมากกว่านี้ จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ และรัฐบาลลาวก็ได้เปิดโอกาสและให้เวลาแก่บริษัทเป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว แต่โครงการก็ยังไม่สามารถเริ่มต้นเดินหน้าได้ ตลอดจนเมื่อมีการออกหนังสือบอกกล่าวตามสัญญา บริษัทก็ไม่เสนอแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องภายในกำหนดเวลา
การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวใน พ.ศ.2549 จึงเป็นความจำเป็นของรัฐบาลลาวเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถเริ่มต้นได้อย่างแท้จริง รัฐบาลลาวจึงได้เปิดประมูลเพื่อจัดหาเอกชนที่มีศักยภาพและความสามารถเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินลิกไนต์แห่งนี้ ด้วยวิธีประมูลอย่างโปร่งใส โดยมีเอกชนหลายรายเสนอตัวเข้าร่วมในการประมูล
ขณะที่บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ จำกัด มิได้เสนอตัวขอเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ แต่ได้เสนอเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลากร เพื่อให้มีการพิจารณาข้อขัดแย้งที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียใน พ.ศ.2550 เรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ถูกบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจากรัฐบาลลาวเป็นจำนวนเงิน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ และคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดในปลายปี พ.ศ.2552 ให้รัฐบาลลาวชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ จำกัด เป็นเงินจำนวนรวม 56 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย
แต่รัฐบาลลาวไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว โดยเห็นว่าคำชี้ขาดมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องที่สำคัญ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียใน พ.ศ.2553 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จนศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2555
การตัดสินใจยกเลิกสัมปทานที่ได้เคยให้ไว้แก่ บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ จำกัด เมื่อ พ.ศ.2549 เป็นการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศชาติควรจะได้รับสูงสุดเป็นสำคัญ จนในที่สุดการประมูลเพื่อหาผู้เข้ามาพัฒนาโครงการรายใหม่ก็เป็นได้ด้วยความโปร่งใส และยุติธรรม โดยคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถของผู้พัฒนาโครงการ ที่จะทำให้การดำเนินการพัฒนาแหล่งถ่านหินดังกล่าวสามารถเริ่มต้นเดินหน้าต่อไปได้
อนึ่ง โครงการลิกไนต์หงสาเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2539 โดยบริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ จำกัด (TLL) แต่โครงการถูกยกเลิกไป จากนั้นในปี พ.ศ.2548 บมจ.บ้านปู (BANPU) ได้รับการพิจารณาให้ดำเนินโครงการโดยร่วมทุน 37.5% กับ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งเข้ามาร่วมทุนในเดือน พ.ย.2550 อีก 37.5% ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาลลาว