SCB-BBL ร่วมปล่อยกู้ 4.1 พันลบ."บางกอกแรนซ์"ซื้อกิจการคืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 30, 2013 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนและการเข้าซื้อกิจการบริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด ผู้ผลิตเป็ดสดแช่แข็งและแปรรูปเป็ดแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คืนจากกองทุน เนวิส แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ (ประเทศไทย) และราโบ แคปปิตอล บี.วี. ด้วยมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อคืนจากนักลงทุนต่างชาติส่งผลให้บริษัทกลับคืนมาอยู่ในอำนาจการบริหารของคนไทย

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวว่า ธนาคารมีโอกาสเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการเข้าซื้อกิจการและการระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนและกองทุนที่ให้การสนับสนุนรวมถึงจัดหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพื่อเข้าซื้อกิจการในลักษณะ Management Buyout (MBO) โดยการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้มีการระดมเงินทุนจากกลุ่มผู้บริหารและกองทุนส่วนหนึ่ง ในขณะที่เงินทุนหลักในการเข้าซื้อกิจการมาจากวงเงินกู้ ซึ่งมี SCB และธนาคารกรุงเทพ(BBL)เป็นผู้ให้เงินกู้มูลค่ารวมกันกว่า 4,100 ล้านบาทเพื่อเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้

จากความเชี่ยวชาญของธนาคารในการเป็นที่ปรึกษาในการเข้าซื้อกิจการในรูปแบบ LBO/MBO และจากความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทบางกอกแรนช์เองที่เป็นเป็นผู้นำในธุรกิจเป็ดครบวงจร มีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ในเมืองไทย และถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งที่ผ่านมามียอดขายเติบโตและมีอัตรากำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสูง

นายโจเซฟ สุเชาว์วณิช รองประธานกรรมการ และกรรมบริหารภาคพื้นเอเชีย และเอเชียแปซิฟิค บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด เปิดเผยว่า ธนาคารดูแลตั้งแต่เริ่มกระบวนการไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมประเภทไหน รวมถึงการมองหาโอกาสทางธุรกิจให้แก่บริษัท พร้อมทั้งให้คำแนะนำทางด้านธุรกิจมากกว่าเสนอขายผลิตภัณฑ์

การที่ SCB มาเป็นที่ปรึกษาในการเข้าซื้อกิจการและการระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนและกองทุนและจัดหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มโอกาสของบริษัทด้านการเติบโตของตลาดส่งออกในประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป โดยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อเป็ดสดของ EU และภาวะเศรษฐกิจของ EU ที่น่าจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

รวมทั้งความเป็นไปได้สูงที่ญี่ปุ่นอาจจะประกาศยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อเป็ดสดจากไทย โดยปริมาณการส่งออกไปญี่ปุ่นเคยสูงถึงประมาณ 12,000 ตันในช่วงก่อนเกิดไข้หวัดนก เนื่องจากเนื้อเป็ดจากประเทศไทยเป็นที่นิยมด้วยคุณภาพ และรสชาติ ดังนั้น บริษัท บางกอกแร้นช์ ในฐานะผู้ผลิตเนื้อเป็ดรายใหญ่ของประเทศไทยจึงมีโอกาสจะไปเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของเนื้อเป็ดในประเทศญี่ปุ่น จากปริมาณการส่งออกเนื้อเป็ดไปตลาดโลกทั้งหมดในปัจจุบันที่ 8,000 ตัน ซึ่งปริมาณการส่งออกนี้ยังต่ำกว่าในปี 46 ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ไทยเคยมีปริมาณการส่งออกเนื้อเป็ดไปยังตลาดโลกมากถึงราว 18,000 ตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ