ทั้งนี้ รายละเอียดเป็นงานก่อสร้างสถานีพร้อมอาคารสถานี จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีบางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง และรังสิต
ขณะที่ รฟท.จะเพิ่มอีก 2 สถานี คือ สถานีวัดเสมียนนารี และสถานีหลักหก ซึ่งมูลค่าโครงการที่เซ็นสัญญาในวันนี้ยังไม่รวมงานก่อสร้าง 2 สถานีดังกล่าวก็จะมาเจรจากับผู้รับเหมาต่อไป
ทั้งนี้ งานก่อสร้างจะเป็นทางรถไฟยกระดับบนโครงสร้างคานสำเร็จรูปทางกล่องพาดบนหัวเสาคอนกรีตหรือกรอบคานเสาคู่ และการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับบนฐานเสาเข็ม จากกม.12+201.700- กม. 25+232 รวมทั้งงานก่อสร้างระดับดิน และงานดัดแปลง ปรับปรุงหรือย้ายโครงการโฮปเวลล์
"ทางรถไฟฯได้จ้างที่ปรึกษาไปสำรวจดูว่า โครงการโฮปเวลล์ใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน จะต้องทุบหรือใช้ประโยชน์ต่อ ก็ให้เวลา 2 เดือนสรุป" รมว.คมนาคม กล่าว
ด้านนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร ITD กล่าวว่า สถานีที่สร้างเพิ่มเติมบริษัทจะคิดค่าก่อสร้างในราคาต่อหน่วยเท่ากับราคาของโครงการสัญญา 2 ที่เซ็นวันนี้ ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ซึ่งเป็นราคาเมื่อปี 53 และสถานที่เพิ่มขึ้นมามีขนาดเล็ก ราคาประมาณ 700-800 ล้านบาท/สถานี ซึ่ง ITD ยืนยันว่าทำได้แม้ว่าจะถูกต่อรองราคา และเห็นว่าการก่อสร้างไปพร้อมกันจะดีกว่า
สำหรับสัญญาที่ 3 ซึ่งเป็นงานวางระบบรถไฟฟ้า รฟท.จะดำเนินการภายหลังจากลงนามสัญญาที่ 2 แล้วโดยมีระยะเวลาในการพิจารณา 90 วัน ภายหลังการลงนามในสัญญาที่ 1 และ สัญญาที่ 2 เรียบร้อยแล้ว
โครงการระบบรถไฟชานเมือง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 59 และสามารถรองรับการให้บริการประชาชนระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพ กับปริมณฑล ขยายความเจริญและการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปยังย่านชานเมือง ช่วยลดปัญหาจราจรและความแออัดกรุงเทพและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน