นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่า รฟม.เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้รฟม.ได้นำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานี มูลค่าโครงการ 5.8 หมื่นล้านบาท ให้กับกระทรวงคมนาคมแล้ว และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในไตรมาส 1/56 หลังจากนั้น คาดว่าในไตรมาส 3/56 จะสามารถเปิดประมูลได้
ขณะที่รฟม.เห็นว่าการปรับแบบเพื่อเบี่ยงเส้นทางเข้าเมืองทองธานีอีกประมาณกว่า 1 กม.และใช้เป็นโรงจอดรถ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1 พันล้านบาทเป็นสิ่งที่คุ้มค่า คาดว่า 1 ปีก็จะสามารถถึงคุ้มทุน เนื่องจากเมืองทองธานีซึ่งเป็นแหล่งรวมการจัดนิทรรศการและงานแสดงต่าง ๆ ที่มีผู้เดินทางมาเข้าร่วมงานประมาณ 15 ล้านคน/ปี ถือเป็นการลดปัญหาจราจรที่แออัดในบริเวณดังกล่าวได้อย่างมาก และสนองตอบความต้องการของประชาชน รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยทั่วไปศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการควรมีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน
"เส้นทางที่เข้าเมืองทองไม่ได้อยู่เอกสารที่ส่งให้ครม.อนุมัติ ถ้ามีเพิ่มเราก็ต้องเสนอ ครม.อนุมัติเพิ่มเติม ตามแผน รฟม.ลงทุน 1 พันกว่าล้านบาท แต่จุดนี้น่าจะได้กำไรดี เพราะมีผู้โดยสารเยอะมากและลดปัญหาจราจรได้ และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ MICE เพราะสถานที่ทำนิทรรศการต้องติดรถไฟฟ้า มีแต่ศูนย์สิริกิติ์ เพราะฉะนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง รฟม.ลงทุนก็คุ้มค่า...ข้อเท็จจริงวันนี้มีคนเข้าเมืองทองธานีวันละ 15 ล้านคน/ปี รัฐมีหน้าที่ช่วยแก้ปัญหาจราจร และเรายังได้เงินค่าโดยสาร อันนี้ถือเป็นการร่วมมือกับเอกชน"ผู้ว่า รฟม.กล่าว
นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รฟม.ได้ยื่นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ตีความว่า รฟม.เข้าไปใช้พื้นที่เมืองทองธานีที่บมจ.บางกอกแลนด์(BLAND) เป็นเจ้าของได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่ายังไม่มีข้อมูลชัดเจนเพียงพอ และให้เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)และกระทรวงการคลังแทน เพราะเป็นการดูด้านความคุ้มค่าของโครงการมากกว่า ดังนั้น จึงเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้นจะทำการศึกษาด้านเทคนิคการออกแบบและการเงินให้มีความแม่นยำต่อไป
ทั้งนี้ ข้อตกลงที่ได้คุยไว้กับเอกชนคือจะให้พื้นที่ทำโรงจอดรถ แต่ทางเอกชนยืนยันว่าจะสร้างเป็นอาคารตามแผนเดิมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้