ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 449,415 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 4, 2013 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (28 มกราคม — 1 กุมภาพันธ์ 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 449,415 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 89,883 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 19% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 307,883 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 117,139 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,875 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB155A (อายุ 2.4 ปี) LB196A (อายุ 6.5 ปี) และ LB176A (อายุ 4.5 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 20,482 ล้านบาท 18,741 ล้านบาท และ 18,712 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13219A (อายุ 14 วัน) CB13502C (อายุ 91 วัน) และ CB13801B (อายุ 182 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 44,697 ล้านบาท 24,830 ล้านบาท และ 19,280 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รุ่น THAI165A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 617 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT14DA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 551 ล้านบาท และ รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 503 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตราสารอายุ 1 เดือน ประมาณ +2 Basis Point แต่ปรับตัวลดลงในตราสารระยะยาวอายุ 5 ปีขึ้นไป ในช่วง -1 ถึง -2 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ในขณะที่พันธบัตรอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี มีอัตราผลตอบแทนคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนในตราสารระยะยาว ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกันกับผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) ภายหลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไป พร้อมๆกับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3 และ QE4) ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินรวมถึงตราสารหนี้ระยะยาว ในวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อเดือน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าตัวเลขการว่างงานจะลดลง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งของประเทศในฝั่งยุโรปรวมถึงประเทศสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในระดับที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ ทั้งหมดนี้มีผลทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นตราสารหนี้อีกครั้ง และมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น)

นอกจากนี้แล้ว การดำเนินนโยบายทางการเงินของหลายๆประเทศ ผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตนเองในปริมาณมาก ส่งผลทำให้เกิดกระแสเงินลงทุนไหลเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา มีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีแนวทางหรือมาตรการใดๆ ในการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยหรือไม่

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 8,294 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 4,171 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย ในสัปดาห์นี้มียอดขายสุทธิ 81 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ