ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป โดยสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิต รวมถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจคลังสินค้าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัท
บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย โดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 95 แห่ง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 62 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 518,948 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในช่วงปี 2548-2553 รายได้หลักของบริษัท (65%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ 27% ของรายได้รวมมาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า
ในระหว่างปี 2548-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลดลงเหลือ 944 ล้านบาทในปี 2554 หรือ 47% ของรายได้รวม เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554
ณ เดือนสิงหาคม 2555 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (21.4%) กลุ่มผู้บริหารของบริษัท (7.4%) และกลุ่มซิตี้เรียลตี้ (6.4%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวในทำเลต่าง ๆ 10 แห่งและคลังสินค้าให้เช่าอีก 7 แห่ง
รายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย ณ เดือนกันยายน 2555 บริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 58.0% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บมจ. เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) (15.4%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (12.7%) บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) (7.7%) บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (6.3%)
ในปี 2555 ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงงานให้เช่าของบริษัทอ่อนตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 อัตราการย้ายออกของผู้เช่าในพื้นที่ดังกล่าวมีสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับพื้นที่โรงงานให้เช่าในส่วนที่ไม่ได้รับผลจากอุทกภัยแล้ว พื้นที่โรงงานให้เช่าของบริษัทจะลดลงเพียง 5% เท่ากับ 367,940 ตร.ม. ณ สิ้นปี 2555 จาก 387,515 ตร.ม. ณ สิ้นปี 2554 ในทางตรงกันข้าม หากไม่นับรวมผลกระทบจากการขายพื้นที่คลังสินค้าเข้า TLOGIS เท่ากับ 55,230 ตร.ม. ในปี 2554 และ 117,664 ตร.ม. ในปี 2555 ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเติบโตอย่างมาก โดยพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเติบโต 44% จาก 260,582 ตร.ม. ณ สิ้นปี 2554 เป็น 374,772 ตร.ม. ณ สิ้นปี 2555 โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่นับรวมผลกระทบจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวม บริษัทมีพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นรวมสุทธิ 15% ในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 94,615 ตร.ม. ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจคลังสินค้าช่วยลดผลกระทบจากธุรกิจโรงงานให้เช่าที่อ่อนตัวลง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 1,680 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 การลดลงของรายได้มีสาเหตุหลักมาจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือเท่ากับ 762 ล้านบาท ในขณะที่ TICON มีแผนจะขายสินทรัพย์จำนวนมากเข้ากองทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าเช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 9% เป็น 768 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 49% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เป็น 52% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีต้นทุนค่าซ่อมแซมและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นมาจากโครงสร้างรายได้ที่แตกต่างกัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 รายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการให้เช่าซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
ภาระหนี้รวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการขยายกิจการของบริษัท โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 6,176 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 เป็น 12,930 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการเงินทุนในการขยายกิจการของบริษัทเพื่อรองรับความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในภาคตะวันออก ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 68.4% ณ เดือนกันยายน 2555 จาก 52.5% ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดังกล่าวคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากบริษัทขายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 3,570 ล้านบาทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และเพิ่มทุนประมาณ 965 ล้านบาทได้สำเร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555