"แค่ 9 เดือนกำไรเราก็สูงไปถึง 143 ล้านบาท จากปี 54 ทั้งปีเรากำไรที่ 66 ล้านบาท เติบโตไปมากกว่า 100% แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะจ่ายเงินปันผลสูงว่านโยบายที่กำหนดจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ"นายสาทิส กล่าว
สำหรับผลประกอบการในปี 56 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รักษาอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 30% หรือมีรายได้ 1.3 พันล้านบาท จากปีก่อนที่คาดว่าจะทำรายได้ 1.1 พันล้านบาท โดยขณะนี้มีคำสั่งผลิตสินค้าในมือล้นความสามารถในการผลิตแล้ว ทำให้บริษัทต้องเดินเครื่องจักรผลิตของทุกโรงงานตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 35-40%
บริษัทมีแผนลงทุนขยายโรงงานในเครือ โดยในช่วงต้นปีนี้ได้เพิ่มเครื่องจักรของ บริษัท พาโก้ สาลี่ พริ้นท์ติ้ง ไปแล้ว มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท ขณะที่เตรียมแผนก่อสร้างโรงงานฉีดพลาสติกโรงใหม่ใกล้เคียงกับโรงงานเดิม ประเมินค่าก่อสร้างโรงงานเบื้องต้นราว 100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน มี.ค. และแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.หรืออย่างช้าภายในไตรมาส 3/56
จากนั้นจะทยอยติดตั้งเครื่องจักรจนครบ 50 เครื่องภายในปีหน้า เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 100% จากปัจจุบันที่โรงงานเดิมมีเครื่องจักรอยู่ 42 เครื่อง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเครื่องจักรราว 200 ล้านบาท แต่ปีนี้คงทยอยเพิ่มขึ้นเพียงราว 20-30% แต่หลังจากปี 57 ไปแล้วจะมีกำลังผลิตของโรงงานใหม่เข้ามาเต็มที่
"เราจะใช้ cash flow เป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้มีลูกค้าแล้ว 50% ของกำลังผลิตโรงงานใหม่ ส่วนอีก 50% เราเตรียมไว้รองรับโปรเจ็คต์อื่น ๆ ที่จะทยอยเข้ามาใหม่...เรามองว่าการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการลงทุนออกจากจีนน่าจะทำให้มีออร์เดอร์งานฉีดพลาสติกชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงงานภาครัฐ"นายสาทิส กล่าว
นอกจากนั้น บริษัทอาจจะพิจารณาความจำเป็นในการขยายโรงงานของพริ้นท์ติ้งในช่วงปลายปีนี้อีกครั้ง หลังจากที่ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ขนาดใหญ่เข้าไป ทำให้พื้นที่โรงงานค่อนข้างแน่นแล้ว ซึ่งบริษัทยังมีความพร้อมด้านการเงินที่สามารถลงทุนได้ เพราะบริษัทไม่มีหนี้ระยะยาว และได้รับดิตเทอมในการสั่งเครื่องจักรถึง 1 ปี โดยขณะนี้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ของบริษัทอยู่ที่ 0.4 เท่า
ส่วนการขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศนั้น ในราวเดือน เม.ย.บริษัทจะมีการเจรจากับผู้ถือหุ้นญี่ปุ่นถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานของ พาโก้ สาลี่ พริ้นท์ติ้ง ในต่างประเทศ หลังจากที่บริษัทเห็นโอกาสที่จะขยายงานไปในเวียดนามและอินโดนีเซีย ตามแนวโน้มธุรกิจของลูกค้าที่ได้ขยายฐานการลงทุนออกไปเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)
นายสาทิส เปิดเผยอีกว่า บริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนจากยุโรปและญี่ปุ่นที่เข้ามาเยี่ยมชมกิจการและขอข้อมูล รวมทั้งนักลงทุนประเภท value invester แต่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีนโยบายจะขายหุ้น SALEE ในมือออกไป เพราะมั่นใจในแนวโน้มของบริษัทที่มีกำไรมาจากการทำธุรกิจเท่านั้น รายได้มีทิศทางที่เติบโตขึ้น แต่รายจ่ายคงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจะต้องเข้าไปซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทตระหนักดีว่าขณะนี้หุ้น SALEE ที่เทรดในตลาดหลักทรัพย์มีสภาพคล่องค่อนข้างน้อย จึงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้น แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุน หรือขายหุ้นในมือ รวมทั้ง บริษัทยังไม่มีแนวคิดที่จะย้ายหุ้น SALEE จากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ SET แม้ว่าในอนาคตอาจจะมีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านบาทตามเกณฑ์ของ SET จากปัจจุบันอยู่ที่ 260 ล้านบาทก็ตาม เพราะยังไม่เห็นความจำเป็น