นางพิกุล ศรีมหันต์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายเสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้ายอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี55 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 80,000 ล้านบาท แต่ในปี 55 ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ของธนาคารเกินเป้ามาอยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท และคาดว่าปีนี้น่าจะเกินจากเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เนื่องจากแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 56 ยังมีการเติบโตต่อเนื่องตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนของสินเชื่อใหม่ปีนี้แบ่งเป็นแนวราบ 85% คอนโด 15% โดยสัดส่วนของกรุงเทพฯกับต่างจังหวัดอย่างละครึ่ง
ทั้งนี้ธนาคารจะรักษาส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อบ้านธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ที่ 30% โดยการเพิ่มยอดสินเชื่อคงค้างรวมเป็น 4.5 แสนล้านบาท จากปี 55 อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท และรักษาระดับ NPLให้อยู่ที่ 2% เพื่อรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาด
ทั้งนี้ ในปี 56 ธนาคารจะรุกตลาดบ้านมือสองที่เป็น NPA ของธนาคารมากขึ้น ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ครบตามรูปแบบและยังมองว่าบ้านมือสองเป็นบ้านที่มีทำเลที่ดีกว่าบ้านใหม่ ทำให้ลูกค้ามีความสนใจมากขึ้น เนื่องจากบ้านใหม่ในปัจจุบันจะขยายออกไปรอบนอก
ส่วนปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น นางพิกุล มองว่าจะเกิดกับโครงการคอนโดมิเนียมมากกว่า เพราะเป็นการขายต่อเพื่อการเก็งกำไร
"ธนาคารจะพยายามไม่ใช้แคมเปญดอกเบี้ย 0% ถ้าจะใช้ก็แค่ในระยะสั้นเท่านั้น เพื่อเป็นการลดการเปลี่ยนมือที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดฟองสบู่" นางพิกุล กล่าว
นอกจากนี้ มองว่า ปี56 ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีการกลับมาทำคอนโดฯ โดยมีราคาขายประมาณ 5-6 แสนบาท/ห้อง โดยทำเลจะอยู่ชานเมือง ซึ่งรองรับผู้เริ่มทำงานและรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/ เดือน
ส่วนผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นางพิกุล มองว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากกว่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นผลที่ตามมาราคาบ้านก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรืออาจจะเป็นการลดขนาดลงเล็กน้อยและการใช้วัสดุที่คุณภาพลดลง เพื่อเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งในความรู้สึกของลูกค้าที่ซื้อนั้นอาจจะไม่ได้มีความรู้สึกมากนักต่อขนาดบ้านที่เล็กลงหรือวัสดุที่อาจมีคุณภาพลดลงเมื่อเทียบกับราคาที่สูงขึ้น