โดยในส่วนของ RATCH จะต้องปรับลดบอร์ดในส่วนของภาครัฐลงไม่ให้เกินกึ่งหนึ่งของบอร์ดทั้งหมดเพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดไม่ให้บริษัทที่มีภาครัฐถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 50% และมีกรรมการในบริษัทเกินกว่ากึ่งหนึ่งไม่สามารถเข้าร่วมประมูล IPP ครั้งนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งปรับบอร์ดของ RATCH ให้มีคนนอกเข้ามามากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าร่วมประมูล IPP ครั้งนี้ได้ทัน
"ยืนยันว่าไม่มีเรื่องอื่นแทรกแซงแน่นอน โดยในส่วนของนายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แจ้งตนว่าต้องการลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. เพราะมีงานมาก แต่ตนก็ยังได้มอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับ ปตท. ให้ช่วยทำด้วย ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีการเกษียณอายุราชการไปแล้ว จึงได้ขอลาออกจากประธานบอร์ด กฟผ."นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของ กฟผ. ในอนาคตจะต้องมีการหารือกับฝ่ายบริหาร เพื่อสร้างศักยภาพ และให้ กฟผ. มีแขนขาในการลงทุนมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแปรรูป กฟผ. เนื่องจากในอนาคต กฟผ. จะต้องมีการลงทุนมากขึ้น และประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี กฟผ. จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องของการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้า หรือ Power Grid และธุรกิจบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เพื่อที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจต่างๆ มากขึ้น