ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 527,394 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 11, 2013 18:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (4 — 8 กุมภาพันธ์ 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 527,394 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 105,479 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 17% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 69% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 362,266 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 139,884 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 10,703 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.5 ปี) LB145B (อายุ 1.3 ปี) และLB121DA (อายุ 8.9 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 25,822 ล้านบาท 24,133 ล้านบาท และ 18,243 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13509B (อายุ 91 วัน) CB13307A (อายุ 28 วัน) และ CB13226A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 35,598 ล้านบาท 31,430 ล้านบาท และ 29,014 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,829 ล้านบาทหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รุ่น THAI165A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 820 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (มหาชน) รุ่น MPSC146A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 554 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในทุกช่วงอายุของตราสารหนี้ ในช่วง -2 ถึง -12 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงในทุกช่วงอายุของตราสารหนี้ ในช่วง -2 ถึง -12 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) จากกระแสเงินทุนที่ยังไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยจนทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบ 17 เดือน ทั้งนี้แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ที่ระดับร้อยละ 2.75 ต่อปี จะเป็นระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยระบุว่าเหมาะสมสำหรับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตนเอง อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละศูนย์ ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความน่าดึงดูดใจในการเข้ามาเก็งกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยและค่าเงิน แม้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจก็ตาม และจากเหตุผลทั้งหมดนี้ ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการตัดสินใจด้านนโยบายอย่างไร

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงขึ้น ตามราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2556 กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดกรอบของอัตราเงินเฟ้อไว้ในช่วง ร้อยละ 2.80 — 3.40 หรือเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 3.0 และมองว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 อัตราเงินเฟ้อของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.3

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 30,622 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 4,242 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย ในสัปดาห์นี้มียอดซื้อสุทธิ 77 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ