ทั้งนี้ บริษัทฯมีการเตรียมการที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีก 3-4 สาขา เพื่อเป็นฐานในการช่วยขยายตลาด โดยบริษัทฯจะมุ่งเน้นกิจกรรมด้านการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนมากขึ้นในด้านการปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้นด้วยการสนับสนุนของกลุ่มธนาคารเมย์แบงก์ บริษัทฯมีการปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้นที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อก่อนมาก โดยมีการควบคุมดูแลที่ละกลุ่มและมีความเสี่ยงน้อยมาก ปัจจุบันบริษัทฯมีการปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้นถึง 1.2 หมื่นล้านบาท
ทางด้านธุรกิจตราสารอนุพันธ์บริษัทฯมีการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นระยะๆและมีเป้าหมายที่จะออกในปี 56 ไม่น้อยกว่า 100 สัญญา นอกจากนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะออกตราสารประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์ เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนและอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายตราสารดังกล่าวจากสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่ง นอกจากนี้บริษัทฯยังมีแผนจะให้บริการซื้อขายอนุพันธ์ในต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับกลุ่มเมย์แบงก์ในการพัฒนาระบบงานและดำเนินงาน โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (MBKET) เปิดเผยว่า เป้าหมายของกลุ่มเมย์แบงก์ กิมเอ็ง คือ การก้าวสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียนภายในปี 58 บริษัทฯจึงมีแผนธุรกิจที่จะพัฒนาในหลากหลายด้านทั้งธุรกิจหลักทรัพย์และวาณิชย์ธนกิจ โดยในปี 55ที่ผ่านมาบริษัทฯสามารถทำรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 3.23 พันล้านบาท และมีกำไรสูงถึง 738 ล้านบาท คิดเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้น 12.87% โดยความสำเร็จหลักส่วนใหญ่มาจากรายได้ในสายงานธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 90% ดอกเบี้ยรับ 5% และวาณิชธนกิจ 3%
ปัจจุบันบริษัทเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสูงสุด โดยมีส่วนแบ่งตลาด ณ สิ้นปี 55 อยู่ที่ 11.86% และเมื่อดูส่วนแบ่งตลาดในเดือนมกราคม 56 ได้ขยับเพิ่มขึ้นสูงเป็น 12.5% โดยแบ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนบุคคลในประเทศ 17% นักลงทุนสถาบันในประเทศ 4-4.5% และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศอีก 2-2.5% คิดเป็นฐานลูกค้าที่เปิดบัญชีกับบริษัทฯประมาณ 1.2 แสนบัญชี โดยเป็นนักลงทุนที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอประมาณครึ่งหนึ่งและคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าขยายฐานนักลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนบัญชี
ด้านสายงานวาณิชธนกิจที่ให้บริการด้านที่ปรึกษาทางการเงินและการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการเดินไปได้ดีตั้งแต่ต้นปี โดยกำลังจะมีการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป(IPO)ประมาณ 5-7 บริษัท และมีกองทุน Infrastructure Fund ประมาณ 2-3 บริษัท และกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือกองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ 2-3 บริษัท โดยมีมูลค่าการระดมทุนรวมทั้งหมดกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้กลุ่มเมย์แบงก์มีการสนับสนุนงานด้าน Global Wholesale Banking ซึ่งมีความพร้อมและแข่งขันได้มากในการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทไทยที่จะลงทุนในต่างประเทศ จะเห็นได้จากในปีที่ผ่านมาธนาคารได้ปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ(THAIBEV)สูงถึง 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 12.5 หมื่นล้านบาท