สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 4.5 ปี) LB145B (อายุ 1.3 ปี) และLB15DA (อายุ 2.8 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 34,971 ล้านบาท 17,139 ล้านบาท และ 16,490 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13516B (อายุ 91 วัน) CB13305A (อายุ 14 วัน) และ CB13307A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 37,292 ล้านบาท 32,822 ล้านบาท และ 29,614 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รุ่น CPF13NA (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 1,118 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (มหาชน) รุ่น MPSC136A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 824 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT14DA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 509 ล้านบาท เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุของตราสารหนี้ ในช่วง +1 ถึง+7 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์นี้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากส่วนหนึ่งมีแรงขายเพื่อทำกำไรจากนักลงทุน หลังจากที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (ราคาพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น) ตามการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย กลายมาเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนในตลาดให้ความสนใจ หลังจากที่ รมว. คลังได้ส่งสัญญาณถึง ธปท. อย่างต่อเนื่องถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากเงินบาทแข็งค่าไปแล้วกว่า 2.35% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ ธปท.ได้ยืนยันว่าจะทำการพิจารถึงเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก แทนที่จะให้น้ำหนักในเรื่องของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคการส่งออกเพียงอย่างเดียว
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 4,181 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 3,578 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อย ในสัปดาห์นี้มียอดขายสุทธิ 31 ล้านบาท