โดยปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงใน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า, ธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 56 จะให้น้ำหนักการลงทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ ไทยที่มีการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, โครงการพลังงานทดแทนและโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ในสปป.ลาว ส่วนในออสเตรเลียมีศักยภาพการลงทุนซื้อหุ้นในกิจการโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน และกัมพูชาได้เตรียมลู่ทางเพิ่มโอกาสลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก
ทั้งนี้บริษัทจัดสรรเงินลงทุนในโครงการเดิม 2 พันล้านบาท ส่วนโครงการใหม่ตั้งงบไว้ 8 พันล้านบาท โดยมองหาฐานการลงทุนใหม่ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีทั้งการเข้าซื้อกิจการ การลงทุน Brownfields และ Greenfields รวมถึงพม่าที่กำลังเปิดประเทศ
โดยในนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการ ขณะที่ในฟิลิปปินส์คาดจะสร้างโรงไฟฟ้าทั้งที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ส่วนในออสเตรเลีย จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการๆละ 350 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจากทางการ คาดจะได้ความชัดเจนในปลายปี และในกัมพูชาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดผลการศึกษาสรุปกลางปี56 ขณะที่ในสปป.ลาวมีโอกาสได้ 2-3โครงการที่เป็นพลังงานน้ำ ส่วนในพม่าคาดว่าจะได้ความชัดเจนในปลายปี56 ซึ่ง ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเก่า 2 โรง ๆละ 100เมกะวัตต์
"เงินลงทุน 8 พันล้าน flexible ได้ ถ้ามีโอกาสก็ขอกับบอร์ดได้ คือจะมาซื้อกิจการและ ทำ Greenfield ... เงิน 8 พันล้านไม่ได้แบ่งชัดเจน มีรวมลงทุนในประเทศด้วย" นายนพพล กล่าว
กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH คาดว่าปีนี้กำไรสุทธิ และ รายได้ ดีกว่าปี 55 ที่มีรายได้ 6 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 7.7 พันล้านบาทซึ่งเป็นสถิติสูงสุด จากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
ส่วนการเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ารอบใหม่ นายนพพลกล่าวว่า บริษัทเชื่อว่าจะแก้ปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขตามข้อกำหนดทีโออาร์ในการประมูลครั้งนี้
สำหรับวิกฤตพลังงานในเดือนเม.ย.นี้ นายนพพลกล่าวว่า มีความมั่นใจ ไม่เกิดไฟฟ้าดับในช่วงเดือนเม.ย. ซึ่งพม่าจะปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซ 4-12 เม.ย. เพราะบริษัทได้เตรียมสต็อกน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลสำรองไว้พร้อมสำหรับการผลิตติดต่อกัน 6-7 วัน และได้ให้ผู้ผลิตน้ำมันส่งน้ำมันมาชดเชย ทั้งปตท. เชลล์ เอสโซ่ ทั้งนี้ คาดว่าในปีนี้จะมีความต้องการใช้สูงสุดมากขึ้น 5% เป็น 27,000 เมกะวัตต์/วันจากปีก่อนสูงสุดกว่า 26,000 เมกะวัตต์/วัน
RATCH มีกำลังการผลิตจากการลงทุนจำนวน 6,303 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตในประเทศ 4,586.5 เมกะวัตต์ หรือ ร้อยละ 72.77 ของกำลังการผลิตทั้งหมด และกำลังการผลิตในสปป.ลาว 1,206.5 เมกะวัต์ หรือร้อยละ 19.14 และกำลังการผลิตในออสเตรเลีย 510 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 8.1 ทั้งหมดนี้เป็นกำลังการผลิตพลังงานทดแทน 156.45 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของกำลังการผลิตทั้งหมด