"ภากร" เผยยังจับตาหุ้นเก็งกำไร แม้มาตรการ Cash Balance ได้ผล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 20, 2013 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัย เนื่องจากยังมีเงินทุนไหลเข้าออกจำนวนมากและเร็ว เห็นได้จาก เดือน ม.ค.56 มีนักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 14,937 ล้านบาท ส่วน 19 วันแรกของ ก.พ.56 มีการขายออก ราว 12,000 ล้านบาท ดังนั้นนักลงทุนต้องระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม มองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไม่ถือว่าสูงเกินไปเมื่อเทียบภูมิภาค แต่ไม่ถือว่ามีราคาถูกเหมือนปีก่อน โดยสิ้นเดือน ม.ค.56 ค่า forword PE ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 13.59 เท่า เมื่อเทียบมาเลเซียอยู่ที่ 14.5 เท่า อินโดนีเซีย 14.18 เท่า สิงคโปร์ 14.78 เท่า ฟิลิปปินส์ 17.87 เท่า ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายรัฐบาลยังดี ควบคุมดอกเบี้ยได้ ผลประกอบการ บจ.ดี และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันดีกว่าสิงคโปร์ อยู่ที่ 55,000-56,000 ล้านบาท/วัน

"ดีใจที่หุ้นเล็กปรับขึ้น ถ้านักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทยก็ต้องดูที่ MSCI ที่จะจัดหุ้นนำไปคำนวณ ตอนนี้มีทั้งหุ้นใหญ่ และ ปนกัน และวอลุ่มก็มีมากขึ้น แต่กังวลว่าหุ้นพวกนี้จะปรับขึ้นอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งตลาดก็ดูแลสม่ำเสมอ คอยเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการลงทุนว่ามีพื้นฐานสมเหตุสมผลหรือไม่" นายภากร กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ให้นักลงทุนซื้อขายเงินสด (Cash Balance) และเกณฑ์ Turn overlist ของ ก.ล.ต.เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะมีการประกาศเตือน หากหุ้นใดมีการซื้อขายมากผิดปกติ จะเตือนให้นักลงทุนระมัดระวัง เห็นได้ว่าที่ผ่านมา หลังใช้เกณฑ์ Cash Balance มีมูลค่าการซื้อขายลดลงในหุ้นตัวนั้นๆ แต่ ตลท.ก็ยังติดตามต่อเนื่องเพื่อพิจารณาปรับเกณฑ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ

"ตลาดหุ้นไทยยังไม่แพง ดัชนีขึ้นเหมือนภูมิภาค เหมือนประเทศใกล้เคียงกัน ไม่ได้โตเร็วหรือช้ากว่า ขณะที่สภาพคล่องดีขึ้น และดีมากขึ้นจากหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งคือนักลงทุนต่างประเทศทยอยเข้ามาตั้งแต่ พ.ย.ปีก่อน บวกกับนักลงทุนรายย่อยมีอิทธิพลมากขึ้นในเดือน ม.ค.และสถาบันในประเทศมีการเข้ามาลงทุนมากขึ้น" นายภากร กล่าว

นายภากร กล่าวถึงการที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยที่ 2.75% มองว่าไม่กระทบต่อตลาดทุน เพราะตลาดมีการตีความแล้วว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีจุดยืนในการดูแลเงินเฟ้อ ส่วนกระทรวงการคลัง ดูแลการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่ง 2 หน่วยงานต้องหาจุดสมดุลกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ