ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน-คงเครดิตองค์กร BGH ที่ A+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 22, 2013 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทของ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ที่ระดับ “A+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A+" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืม อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความเป็นผู้นำธุรกิจของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ความสามารถในการรองรับและให้บริการผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเครือข่ายขนาดใหญ่ของบริษัท รวมถึงคณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ บริการที่มีคุณภาพในระดับสูง และเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ให้บริการธุรกิจเพื่อสุขภาพในประเทศและจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการลงทุนในอนาคตของบริษัทที่อาจจะใช้เงินทุนจากการกู้ยืม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการสะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งในประเทศและในภูมิภาค อีกทั้งยังคาดหวังให้บริษัทดึงดูดผู้ป่วยให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นและคงผลประกอบการที่เข้มแข็งเอาไว้ได้ โดยการลงทุนหรือการซื้อกิจการใดใดในอนาคตควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อคงระดับความเสี่ยงทางการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ

บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการก่อตั้งในปี 2512 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัทเป็นผู้นำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 29 แห่งภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลในประเทศที่เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลายจำนวน 5 ตราสัญลักษณ์ และภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลต่างประเทศอีก 1 ตราสัญลักษณ์ โดยมีโรงพยาบาลที่ประกอบกิจการภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ 15 แห่ง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลสมิติเวช 3 แห่ง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 แห่ง และอีก 2 แห่งภายใต้ชื่อ Royal International Hospital และตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลอีก 2 ตรา คือ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท (PYT) และกลุ่มโรงพยาบาลเปาโล (Paolo) บริษัทมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยทั้งสิ้น 4,265 เตียง ซึ่งรวมโรงพยาบาลกรุงเทพอุดรซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ที่มีจำนวนเตียงรวม 120 เตียงเข้ามาด้วย ฐานลูกค้าของบริษัทครอบคลุมกลุ่มคนไข้ระดับกลางถึงระดับบนในหลากหลายทำเล ทั้งนี้ โรงพยาบาลในเครือของบริษัทจำนวน 12 แห่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI)

ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความหลากหลายทั้งในด้านบริการ ฐานลูกค้า และทำเลที่ตั้ง บริษัทเป็นศูนย์รวมของบุคลากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พยาบาล พนักงานคลังยาและเวชภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด รวมทั้งบริษัทมีเครือข่ายระบบส่งต่อผู้ป่วยที่แข็งแกร่งที่สุดด้วย โรงพยาบาลในกลุ่มเน้นการรักษาและให้บริการระดับตติยภูมิ ซึ่งจะช่วยปรับเพิ่มรายได้และการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น การประหยัดจากขนาดซึ่งเป็นผลจากการใช้บริการห้องปฏิบัติการ การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือ ทางการแพทย์หลักร่วมกัน จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การนำระบบบริหารเงินโดยการทำ Cash Pooling มาใช้กับโรงพยาบาลในกลุ่ม ยังสามารถช่วยลดระดับความต้องการเงินกู้ระยะสั้นในแต่ละโรงพยาบาล และลดต้นทุนทางการเงินของกลุ่มโดยรวมลงด้วย

รายได้จากการดำเนินกิจการโรงพยาบาลของบริษัทในช่วงปี 2550-2554 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ระดับ 14% บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ที่ 32,655 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การเติบโตของจำนวนคนไข้ ความซับซ้อนของโรค จำนวนผู้ป่วยส่งต่อที่เพิ่มขึ้น และการรวมรายได้จากกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลเข้ามา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โรงพยาบาลมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยนอก 20,465 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และรองรับผู้ป่วยใน 2,905 เตียงต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 54%-55% มาจากผู้ป่วยใน และที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก ส่วนรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยที่ชำระเงินเองมีมากกว่า 70% ของรายได้รวม

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่เข้มแข็ง เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 4,372 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 6,605 ล้านในปี 2554 และ 6,036 ล้านบาทสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวดีขึ้น จาก 10 เท่า ในปี 2553 เป็น 17 เท่าสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2555 ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 10,751 ล้านบาท ณ ปลายปี 2553 มาอยู่ที่ 19,834 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 เนื่องจากบริษัทได้รับเอาภาระหนี้ของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลเข้ามาหลังการควบรวมกิจการ และเป็นผลจากการลงทุนในโรงพยาบาลแห่งใหม่และบริษัทในเครือ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับลดลงจาก 39.8% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 34.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 เนื่องจากบริษัทมีฐานทุนเพิ่มขึ้น อัตรากำไรจากการดำเนินงานค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับ 20%-22% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

บริษัทวางแผนขยายเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง และขอนแก่น และเมื่อไม่นานนี้ บริษัท รอยัลบางกอก เฮ็ลธ์แคร์ จำกัด (RBH) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญจำนวน 3,741,612 หุ้นซึ่งคิดเป็น 24.94% ของทุนที่ออกแล้วของ บริษัท โรงพยาบาลกรุงธน จำกัด (มหาชน) (KDH) รวมมูลค่า 205.8 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนจากการดำเนินงานเป็นเงินทุนในการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ ทั้งนี้ บริษัทรอยัลบางกอก เฮ็ลธ์แคร์จะยื่นคำเสนอซื้อหุ้นโรงพยาบาลกรุงธนทั้งหมด (หรือประมาณ 55% ของทุนที่ออกแล้ว) ต่อผู้ถือหุ้นทั่วไปในระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ถึง 18 มีนาคม 2556 นี้ โดยมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 454 ล้านบาท การลงทุนทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นของบริษัทจะทำให้เครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัทขยายกว้างขวางขึ้น และก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาลอีก เช่น การให้บริการห้องปฏิบัติการ การผลิตและจำหน่ายยา รวมถึงการให้บริการด้านเวชภัณฑ์ บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในช่วงปี 2556-2558 ประมาณปีละ 6,200-7,700 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทบริหารโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวังเพื่อคงความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ