SIMAT คาดรายได้บรอดแบนด์ขึ้นเป็นธุรกิจหลักปีนี้ วางเป้าลูกค้า 2 หมื่นราย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 27, 2013 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองคำ มานะศิลปพันธ์ รองประธานกรรมการ บมจ. ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทได้นำธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ เข้ามาเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท เนื่องจากเห็นแนวโน้มมีความต้องการสูง และยิ่งมีความต้องการมากยิ่งขึ้นเมื่อทีวีระบบดิจิตอลเกิดขึ้น จึงได้มีการร่วมลงนาม MOU กับบมจ.ทีโอที (TOT)ในโครงการความร่วมมือทางการตลาดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ และ จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้ ตั้งเป้ามีลูกค้าในปีนี้ จังหวัดละ 1 หมื่นราย โดยคาดว่าจะเริ่มทำการตลาดได้เร็วๆนี้ โดยใช้แบรนด์ทีโอทีในการทำตลาด เริ่มความเร็ว 30 เมก/วินาที ซึ่งใช้โครงข่ายใยแก้วนำแสงของบริษ้ทที่ลงทุนไปก่อนหน้านั้น ใน 2 จังหวัดคือเชียงใหม่ และนครราชสีมา ใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท

นายทองคำ คาดว่าในปีนี้ มีโอกาสเห็นรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์ขึ้นมาป็นธุรกิจหลักของบริษัทได้ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะทำรายได้มากน้อยอย่างไร ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจหลักมาจาก การเป็นผู้ให้บริการจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่และพัฒนาโปรแกรมการใช้งานคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่แบบครบวงจรสำหรับระบบการจัดเก็บและจัดการข้อมูลในองค์กร (EDCCS) ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กรของบริษัทลูกค้า รวมทั้งระบบบาร์โค้ด ให้กับกลุ่มค้าปลีก โดยที่ผ่านทุกธุรกิจทำกำไรได้ดี และยังมีโอกาสเติบโตด้วย และคาดว่าปีนี้จะมีกำไรสุทธิดีกว่าปีก่อนซึ่งคาดว่าจะประกาศงบปี 55 ได้ภายในสัปดาห์นี้

"ธุรกิจบรอดแบนด์ อาจจะเร็วก็ได้ ถ้าไปได้เร็ว ปีนี้อาจจะเห็นเป็นธุรกิจหลักของบริษัทได้ เพราะถ้าหากมีความชัดเจน 2 จังหวัดนี้ ผมก็จะเดินต่อ ... คอนเซ็ปผม กำไรปีนี้ไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว " นายทองคำ กล่าว

บริษัทมีแผนเดินหน้าขยายโครงการระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสง (FTTx) ต่อเนื่องตามหัวเมืองใหญ่ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาทต่อจังหวัด อย่างไรก็ดีต้องรอผลการทำตลาดใน 2 จังหวัดข้างต้นก่อน โดยคาดว่าแหล่งเงินทุนจะมาจากการเพิ่มทุน และ เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีหนี้สินน้อยลง โดยในการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง 5 ราย รวมสัดส่วน 9% ของหุ้นทั้งหมด ได้เงินประมาณกว่า 100 ล้านบาทคาดจะนำไปคืนเงินกู้ และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นายทองคำ กล่าวว่า เหตุผลที่ยกเลิกสัญญาการเช่าใช้ระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสง (FTTx) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม เนื่องจาก มีปัญหาในการรับมอบของกสท.เอง ทั้งที่งานสร้างโครงข่าย FTTx เสร็จแล้ว ทำให้ กสท.ตรวจรับมอบงานไม่ได้ ซึ่งล่าช้ามาประมาณ 1 ปี ทำให้บริษัทขอยกเลิก และ หันมาจับมือกับทีโอที ทำการตลาดบรอดแบนด์กับผู้ใช้เอง ซึ่งมอว่าเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่บริษัทมองว่าความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมีมากขึ้น ประกอบกับบริษัทเป็นผู้เชียวชาญระบบไอที อยู่แล้ว บริษัทจึงไปขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแบบที่สาม

ทั้งนี้ ในตลาดบรอดแบนด์ จะมี บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) เป็นคู่แข่งในตลาดที่ให้บริการ Fiber to Home ขณะที่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ยังไม่มีโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่จะลงแข่งขันในตลาดได้ โดยบริษัทจะขายราคาตามตลาด จะไม่ตัดราคากับรายเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ