ในปี 2555 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 213,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อน จำนวน 19,188 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 6,510 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 6,229 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.85 บาท เปรียบเทียบกับปี 2554 ซึ่งขาดทุนสุทธิ 10,197 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 4.67 บาท
ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2555 เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ ในภาพรวมมีการขยายตัวจากปี 2554 แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ปริมาณการขนส่งสินค้า ลดลงจากการเติบโตที่ชะลอตัวอย่างมากของการค้าโลก ล้วนเป็นปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย เมื่อปลายปี 2554 ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์การตลาดด้านราคาโดยการจำหน่ายบัตรโดยสารราคาพิเศษเพื่อกระตุ้นให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากการปิดซ่อมแซมทางวิ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือนมิถุนายน — กรกฎาคม 2555 ทำให้เที่ยวบินล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
บริษัทฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ ที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ธุรกิจองค์กรเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น ในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด การจัดตั้งหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตำแหน่งทางการตลาดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น การการปรับฝูงบินและพัฒนาเส้นทางบิน โดยปรับตารางบินให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางในแต่ละช่วงเวลา ( Seasonality) เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการแข่งขันได้รวดเร็วขึ้น การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่นั่งผู้โดยสาร และปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ การป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน การสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเฉพาะส่วนที่ไม่กระทบกับการให้บริการและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีระดับต้นทุนที่เหมาะสมในระยะยาว
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบผลการดำเนินงานด้านการขนส่งประจำเดือนมกราคม 2556 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 1.89 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน จำนวน 0.14 ล้านคน หรือ ร้อยละ 8.1 มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร ( Revenue Passenger — Kilometer : RPK) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.6 ในขณะที่ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร ( Available Seat - Kilometer : ASK) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.6 ส่งผลให้มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ( Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 78.8 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย ร้อยละ 77.3
โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในเส้นทางภูมิภาคจากร้อยละ 69.6 เป็น ร้อยละ 74.7 สำหรับหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ มีอัตราส่วน การบรรทุกผู้โดยสาร ( Cabin Factor ) เฉลี่ยร้อยละ 84.8 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ร้อยละ 79.4 และ เที่ยวบินภายในประเทศ ร้อยละ 87.0
สำหรับการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ยังคงมีผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ความต้องการขนส่งสินค้าลดลง เป็นผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ ( Revenue Freight Ton-Kilometers : RFTK) ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.0 ในขณะที่ปริมาณการผลิต ( Available Dead Load Ton-Kilometers : ADTK) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.9 ส่งผลให้มีอัตราส่วนการบรรทุกสินค้า ( Freight Load Factor) เฉลี่ย ร้อยละ 47.4 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ยร้อยละ 49.7