PTT เล็งนำ GPSC เข้าตลาดหุ้นปีนี้ระดมทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าอาเซียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 4, 2013 08:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากบมจ. ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.มีแผนที่จะกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าในเครือฯให้อยู่ภายใต้บริษัทร่วมทุนที่ตั้งใหม่ คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) โดยจะมีการโอนหุ้นที่ปตท.ถืออยู่ทั้งในโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 ที่สปป.ลาว และโครงการอื่นๆ เข้ามาอยู่ในโกลบอล เพาเวอร์ฯ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1-2 พันเมกะวัตต์

หลังจากนั้น ปตท.มีแผนจะนำบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะดำเนินการระดมทุนในตลาดหลักทรัยพ์ฯได้ภายในปี 56 โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหุ้นจะใช้เพื่อการขยายธุรกิจไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งบริษัทฯมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน หรือร่วมลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในพม่า เป็นต้น ส่วนการเข้ายื่นประมูลไอพีพีรอบใหม่นั้น คงต้องพิจารณาถึงกฎระเบียบข้อบังคับ เนื่องจากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ฯเป็นการถือหุ้นบริษัทฯในเครือปตท.ทั้ง 100%

ทั้งนี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ฯเป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นหลังจากควบรวมกิจการระหว่างพีทีที ยูทิลิตี้ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย ) โดยมีทุนจดทะเบียน 8.63 พันล้านบาท

"การดึงธุรกิจไฟฟ้าในเครือปตท.เข้ามาอยู่ใน GPSC นั้นจะได้เป็นการรวมศูนย์ ทำให้เกิดSynergy ของกลุ่มธุรกิจ แต่จะไม่ดึงโรงไฟฟ้าที่บริษัทในเครือฯตั้งขึ้นเพื่อใช้ภายในโรงงานตนเอง เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซฯของไออาร์พีซี ซึ่งในอนาคต บริษัทฯดังกล่าวจะรุกธุรกิจไฟฟ้าทั้งถ่านหิน ก๊าซฯ และพลังน้ำ"แหล่งข่าว กล่าว

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า บริษัทฯสนใจศึกษาความเป็นไปได้ในการรุกธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)ในแถบอเมริกา หลังจากได้รับการชักชวนหลายราย โดยปตท.ได้ศึกษาข้อเสนอในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุน การซื้อ แต่ปัญหาในขณะนี้ คือ ใบอนุญาตการส่งออกLNG จากสหรัฐฯต้องใช้เวลา หลังจากเพิ่งอนุญาตให้มีการส่งออกได้เพียง 1-2 รายเท่านั้น สาเหตุหนึ่งมาจากลูกค้าในพื้นที่ต้องการให้ใช้ภายในประเทศมากกว่าส่งออกพลังงานราคาถูก

ทั้งนี้ ปตท.เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ LNG ระยะยาวเพิ่มเติม หลังจากได้มีการทำสัญญาซื้อจากกาตาร์แล้ว 1 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ LNGทั่งโลกสูงถึง 300 ล้านตัน โดยญี่ปุ่นและเกาหลีมีการนำเข้าคิดเป็น 50%ของความต้องการใช้ทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ