ขณะนี้กลุ่ม CIMB อยู่ระหว่างการขยายธุรกิจในกลุ่มแบงก์อย่าครบวงจรในประเทศลาว คาดว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างในไตรมาส 3/56 พร้อมทั้งเตรียมยกระดับสำนักผู้แทนในพม่าเป็นสำนักงานสาขา หลังจากตั้งมาถึง 17 ปีแล้ว แต่ยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายอย่างละเอียดก่อน
"แม้ว่าในช่วงที่พม่าโดนแซงชั่น เราก็ไม่ได้ถอนการลงทุนออกไป เครดิตที่เรามีกับรัฐบาลพม่าถือว่าดีมาก เรามีแผนจะยกระดับฐานะของสำนักผู้แทนให้เป็นสาขาหรือร่วมลงทุน แต่คงต้องศึกษากฎหมายในประเทศพม่าให้ดีก่อน รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ อาทิ ด้านการเมือง การเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไปอย่างไร, ระบบสาธารณูปโภค, และ ความรวดเร็วในการปรับโครงสร้างกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน"
"ที่ลาวเราตั้งใจจะทำในส่วนของแบงก์ให้สมบูรณ์ก่อน ค่อยมองหาธุรกรรมอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าไตรมาส 3 นี้ ธุรกิจที่ลาวน่าจะเริ่มได้"นายสุภัค กล่าว
นายสุภัค กล่าวว่า กลุ่ม CIMB แข็งแกร่งอยู่แล้วในอาเซียน โดยมีฐานะด้านสินทรัพย์แข็งแกร่งเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน โดย 4 อันดับที่อยู่เหนือกว่ากลุ่ม 2 แห่งทำธุรกรรมเฉพาะในประเทศตนเอง แต่ CIMB ทำธุรกรรมทั่วอาเซียน เพราะฉะนั้นอีก 2 ปีที่จะเปิด AEC เราจะแข็งแรงมาก
ทั้งนี้ ในปี 55 กำไรของกลุ่ม CIMB อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท 60%มาจากมาเลเซีย, 25-30% มาจากอินโดนีเซีย ส่วนของไทยประมาณ 3-4% ของกลุ่มซีไอเอ็มบี
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขยายการลงทุนในอาเซียนนั้น เนื่องจากธนาคารซีไอเอ็มบีกรุ๊ป ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในอาเซียนและมีสาขาทั่วอาเซียนประมาณกว่า 2,000 สาขา ด้านการช่วยเหลือธุรกิจที่ไปลงทุนในอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะแต่การให้สินเชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะในแต่ละพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เป็นต้นนั้น เราสามารถเชื่อมโยงกับพันธมิตรที่อยู่ในพื้นที่ที่จะให้คำปรึกษาทั้งกฎหมาย กฎเกณฑ์ด้านการลงทุน แนะนำคู่ค้าธุรกิจ
ผู้ประกอบของไทยที่ใช้บริการของกลุ่ม CIMB ได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ได้มาใช้บริการของ CIMB ที่อินโดนีเซียในเรื่องการบริหารเงินสด เนื่องจากปูนซิเมต์ไทยมีสาขาที่นั่นถึง 8 บริษัท นอกจากนี้ยังมีบริษัทด้านการเกษตรที่มาใช้บริการของ CIMB ช่วยดูแลเรื่องสินเชื่อสำหรับโครงการใหม่และปล่อยสินเชื่อสำหรับรายย่อย
ด้านการโอนเงินสำหรับประชาชนทั่วไป ลูกค้าที่ถือบัตร ATM ของ CIMBT สามารถกดเงินสดจากบัญชีตนเองในประเทศเดิมของตัวเองโดยไม่มีค่าธรรมเนียม และปีนี้ยังได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นการโอนเงินข้ามอาเซียนและทั่วโลก
“อาเซียนมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก สังเกตจากการเข้าไปลงทุนของบริษัทใหญ่ๆ เช่น เครือเจิรญโภคภัณฑ์ (CPF), เครือซีเมนต์ไทย (SCG) และยังมีแนวโน้มว่าบริษัทใหญ่ๆของบ้านเราจะมาลงทุนในอาเซียนอีกมาก"นายสุภัค กล่าว
นายสุภัค กล่าววถึงภาวะฟองสบู่ในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ว่า โอกาสที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันค่อนข้างยาก เนื่องจากแต่ละบริษัทที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ล้วนมีศักยภาพรอบด้าน โดยเฉพาะมีความแข็งแกร่งด้าน Cash Flow ไม่เหมือนกับปี 1997 ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจหน้าใหม่ รายเล็ก ไม่มีเครดิตบูโร แต่ตอนนี้มีเครดิตบูโรเข้ามาช่วยสกรีนผู้ขอสินเชื่อ
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน CIMBT กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายทางธุรกิจในปี 56 สินเชื่อเติบโต 20-30% เงินฝากเติบโต 25-35% รายได้จากดอกเบี้ยเติบโต 25-30% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโต 40-60%
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) เพิ่มเป็น 3.3-3.6% จาก 3.2% ในปี 55 อัตราส่วน ROE ที่ 10-13% จาก 9.9% ในปี 55 และ ROA อยู่ที่ 10-13% จาก 0.9% ในปี 55 ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL Ratio)สิ้นปีนี้จะต่ำกว่า 3.4% จากปี 55 อยู่ที่ 2.8%
ด้านนายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สาย Corporate Finance ของ CIMBT กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจของธนาคารมีงานด้านวาณิชธนกิจที่รับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินจำนวนมาก ทั้งการออก Infrastructure Fund และ Property Fund รวมถึงการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งในส่วนของ IPO กำลังเจรจากันอยู่ประมาณ 4-5 ราย ขนาดระดมทุนตั้งแต่ 1,500-3,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มปิดดีลได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/56
ส่วน Infrastructure Fund ที่กำลังเจรจาอยู่มีทั้งที่เป็นธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่คาดว่าจะริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนได้ประมาณไตรมาส 4/56
นายเกษม พันธ์รัตนมาลา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ และกรรมการ บล. ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ในปี 56 ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแตะ 1,700 จุด ในช่วงในไตรมาส 3 หลังจากสภาพตลาดยังมีแนวโน้มที่ดีทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ สถานการณ์วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปและปัญหาการเมืองในยุโรปที่อาจะส่งผลบั่นทอนจิตวิทยาการลงทุน
ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ซีไอเอ็มบี ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 8 โดยผู้ที่ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ในปัจจุบันคือ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ด้วยมาร์เก็ตแชร์กว่า 20%