อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 56-58 ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 1,248 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐ เน้นการลงทุนในอินโดนีเซียและออสเตรเลียเป็นหลัก ขณะที่บริษัทยังมองหาซื้อเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในอินโดนีเซียภายใต้งบลงทุนราว 300-1,00 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางสมฤดี ชัยมงคล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การเงิน BANPU กล่าวว่า ในปีนี้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยปรับลดลงมาที่ 80 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ปริมาณการผลิตและขายสูงขึ้นอีก 4 ล้านตัน มาจากเหมืองในอินโดนีเซีย 2 ล้านตัน และ เหมืองเกาเหอในจีนอีก 2 ล้านตัน ทำให้รายได้ปีนี้คงไม่เพิ่มขึ้นมากหรืออาจจะทำได้ใกล้เคียงปีก่อน ทั้งนี้ต้องรอดูราคาครึ่งปีหลังที่คาดว่าตลาดจะปรับเข้าสู่สมดุล โดยบริษัทจะเน้นกลยุทธ์การทำราคา ซึ่งปัจจุบันได้ขายล่วงหน้าไปแล้ว 44% สำหรับถ่านหินที่ผลิตในอินโดนีเซีย
ส่วนทิศทางราคาถ่านหินในตลาดโลกปีนี้คาดว่าจะอยู่ในช่วง 95-100 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปีก่อนราคาตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 97.5 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยคาดว่าซัพพลายปีนี้ปริมาณเพิ่มขึ้น 35 ล้านตัน ส่วนดีมานด์เพิ่มขึ้น 37 ล้านตัน จากปีก่อน 850 ล้านตัน จึงคาดว่าจะเกิดภาวะสมดุล ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าก็คาดว่าดีมานด์-ซัพพลายจะเติบโตไปพร้อม ๆ กันปีละ 3-4% และมองในช่วง 10 ปีข้างหน้าราคาถ่านหินในตลาดโลกไม่น่าจะต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน
สำหรับปริมาณขาย 48 ล้านตัน จะมาจากเหมืองในอินโดนีเซีย 29 ล้านตัน เหมืองในออสเตรเลีย 15 ล้านตัน จีน 4 ล้านตัน จากปีก่อนที่มียอดขาย 44.3 ล้านตัน หรือ 43.8 ล้านตัน(คิดตามสัดส่วนการถือหุ้น) โดยคาดว่าจีนยังเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ ปีนี้น่าจะมีการนำเข้าถ่านหินจำนวน 170 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 147 ล้านตัน ซึ่งจีนเป็นลูกค้าหลักสัดส่วน 22% ในปีก่อน รวมทั้งตลาดอินเดียมีแนวโน้มนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนส่งไปขายที่อินเดียราว 8% ของยอดขาย
"ปีนี้ปริมาณผลิตดีกว่าปีที่แล้ว ในอินโดเพิ่มอีก 2 ล้านตัน เหมืองเกาเหอเพิ่มอีก 2 ล้านตัน เราทำได้ดีในเรื่องปริมาณ ต้นทุนก็ทำได้ดี ลดต้นทุนได้ ราคาเฉลี่ยปีนี้คาดว่าอยุ่ที่ 80 เหรียญ/ตัน ขึ้นอยู่ว่ากลางปีสภาวะตลาดเป็นอย่างไร ก็อาจปรับตัวดีขึ้น"นางสมฤดี กล่าว
ขณะที่ BANPU มีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า เข้ามาช่วยเสริมผลประกอบการ โดยในปี 55 มีสัดส่วนกำไร 13% จากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และ โรงไฟฟ้าในจีน นอกจากนั้น คาดว่าหลังปี 58 ที่โรงไฟฟ้าหงสาจ่ายไฟฟ้าได้ในไตรมาส 3/58 สัดส่วนกำไรในธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 15-20% หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสลงทนในธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล โดยเห็นว่านโยบายของ รมว.พลังงานมีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 14%
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า บริษัทได้เตรียมเงินลงทุนในช่วงปี 56-58 จำนวน 1,248 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีนี้จะใช้จำนวน 270 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันบริษัทยังมีความสามารถที่จะลงทุนเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในอินโดนีเซียประมาณ 300- 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเห็นว่าเป็นสินทรัพย์ที่ดี เพราะในอินโดนีเซียบริษัทมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากร เครื่องมือและฐานเงินทุนอยู่แล้ว
"ซื้อกิจการเพิ่มยังไม่ใช่ลำดับความสำคัญสูงสุด...ถ้ามีโอกาสซื้อเหมืองในอินโดนีเซีย ยังไม่รวมในงบลงทุน เพราะใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก และเราจัดกระแสเงินสดเข้าไปได้" นางสมฤดี กล่าว
ส่วนเหมืองในมองโกเลีย ขณะนี้อยู่ระหว่างและเตรียมความพร้อม คาดว่าจะเริ่มขายถ่านหินได้ในปี 57 และศึกษาการเข้าสู่ตลาด Coal Chemicals ที่จีนกำลังพัฒนานำถ่านหินมาแปลงเป็นก๊าซ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับเหมืองในมองโกเลียด้วย โดยบริษัทจะเข้าไปเป็นผู้ซัพพลายถ่านหิน แต่จะไม่เข้าไปดำเนินกิจการ Coal Chemical เอง
ปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสด 700- 800 ล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สินสุทธิกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นางสมฤดี กล่าวถึงคดีความที่มีกับกลุ่มนายศิวะ งานทวีและพวกว่า ขณะนี้บริษัทได้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี กว่าจะรู้ผลตัดสินของศาลอุทธร ซึ่งหลังจากนั้นจึงจะพิจารณาว่าบริษัทจำเป็นต้องตั้งสำรองหรือไม่ แต่เชื่อว่าคดีคงจะสิ้นสุดในชั้นศาลฎีกาแน่นอน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.55 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ BANPU และบริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายศิวะ งานทวี และกลุ่มของนายศิวะ เป็นโจทก์ เป็นค่าข้อมูลจำนวน 4 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และค่าขาดประโยชน์เป็นเงินรายปี ปี 2558-2570 ปีละ 860 ล้านบาท และปี 2571-2582 ปีละ 1,380 ล้านบาท