(เพิ่มเติม) BAY ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยโตเป็น 2 แสนลบ.ในปี 58 จาก 1 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 6, 2013 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชิต พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 1 แสนล้านบาทในสิ้นปี 55 เพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาทภายในปี 58 หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว และมั่นใจว่าจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำ 1 ใน 3 ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายใน 3 ปี

ทั้งนี้ ธนาคารวาง 5 กลยุทธหลักทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้สามารถดำเนินการสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ประกอบด้วย กลยุทธความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เน้นผู้ประกอบการระดับชั้นนำ เนื่องจากเป็นการคัดกรองลูกค้าได้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยธนาคารจะเสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด ทั้งด้านราคาที่จูงใจ ดอกเบี้ยต่ำ 0% นาน 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ

กลยุทธด้านช่องทางจัดจำหน่าย โดยใช้ 600 สาขาที่มีอยู่เป็นแนวรับ และตัวแทนขายเป็นแนวรุกในการขยายสินเชื่อ กลยุทธการสร้างแบรนด์สินเชื่อที่อยู่อาศัย กลยุทธเชิงผลิตภัณฑ์ มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ และกลยุทธด้านการปฎิบัติงาน ลดขั้นตอนการอนุมัติได้เร็ว เพื่อความสะดวก

สำหรับปี 56 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 11% จากปี 55 ที่มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประมาณ 1% ถือว่าน้อยมาก และเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

"เราเน้นการจับมือกับ Developer ชั้นนำ top 5 top 10 ทำให้สามารถเลือก segment ได้อย่างมีคุณภาพ เพราะอย่างน้อยเจ้าของโครงการก็คัดกรองลูกค้าไว้ก่อนในระดับหนึ่งแล้ว...พอร์ตสินเชื่ออสังหาฯของเรายังดีอยู่ ทำให้เราตั้งเป้าสินเชื่อเพิ่มอีกเท่าตัวได้ โดยเติบโตอย่างมีคุณภาพและไม่ห่วงการเกิด NPA"นายวิชิต กล่าว

นายวิชิต กล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 56 ยังเติบโต 15-16% โดยในเขตกรุงเทพฯ เติบโต 6-7% แต่ผู้ประกอบการจะมีการขยายการพัฒนาโครงการไปยังหัวเมืองต่างจังหวัดมากขึ้น จะมีการแข่งขัน ออกแคมเปญต่างๆเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดเช่นกัน ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งการแข่งขันด้านราคา ในรูปแบบดอกเบี้ยพิเศษ การจัดรายการส่งเสริมการตลาดต่างๆ

ธนาคารมองว่าไม่น่าเป็นห่วงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกิดภาวะฟองสบู่ โดยการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีความกังวลการก่อหนี้ภาคครัวเรือนนั้น มองว่าเป็นกรณีสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันมากกว่า แต่กรณีภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงไม่น่ากังวล โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อของ BAY ที่อยู่ในระดับดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ