ทั้งนี้ AOT คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2556 ทดม.จะมีปริมาณเที่ยวบินขึ้น-ลงประมาณ 153,000 เที่ยวบินและผู้โดยสารประมาณ 16.9 ล้านคน โดย AOT ได้เตรียมการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระหว่างปี 2556— 2559 งานหลักคือการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานดอนเมืองจะรองรับผู้โดยสารได้ 27.5 ล้านคนต่อปี เพื่อให้ท่าอากาศยานดอนเมืองสามารถรองรับการเจริญเติบโตทางการบินของประเทศไทย
จากปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เห็นได้ว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองมีศักยภาพในการรองรับสายการบินต้นทุนต่ำในเส้นทางการบินระยะใกล้จนถึงระยะกลาง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นเส้นทางเครือข่ายการบินภายในภูมิภาค (Intra Region) เป็นส่วนใหญ่ ศักยภาพของเครือข่ายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการที่ ทดม.ในปัจจุบันครอบคลุมเส้นทางในประเทศไปยังจังหวัดต่างๆ รวม 21 จังหวัด และเมืองต่างๆ กว่า 22 เมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และมีศักยภาพในการเติบโตในเส้นทางการบินภายในภูมิภาคได้อีกมากสู่เมืองต่างๆในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา และ บังคลาเทศ นอกจากนั้นยังรองรับเส้นทางการบินในประเทศ และระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด (Point to Point)
นางภาระณี กล่าวว่า การใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองร่วมกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) จะช่วยทำให้เพิ่มศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศไทย โดยหากรวมกับศักยภาพของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อพัฒนาระยะที่ 2 แล้วเสร็จ จะทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นประตูหลักในการเข้าออกประเทศ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 87.5 ล้านคนต่อปี (ทสภ.60 ล้านคน ทดม. 27.5 ล้านคน) ดังนั้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชีย
อนึ่ง ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้เพิ่มการให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีสายการบินแอร์เอเชียย้ายฐานมาจาก ทสภ. ทำให้ปริมาณการจราจรทางอากาศของ ทดม.เพิ่มขึ้น