อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางการบินของประเทศไทยและประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการมีภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูง ตลอดจนความเสี่ยงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อธุรกิจสายการบิน เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากสายการบินทั่วไปและสายการบินต้นทุนต่ำที่จะกดดันอัตรารายได้ต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตรอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทการบินไทยจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศของไทย นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่ควรลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทต้องมีการลงทุนอย่างมาก ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อไปโดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ
อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ ดังนั้น อันดับเครดิตจะได้รับการปรับลดลงหากรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ปัจจุบันกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 51% นอกจากนี้ ยังมีธนาคารออมสินซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 2.1% ด้วย ในขณะที่หุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.5% ที่ถือโดยกองทุนวายุภักษ์นั้นจัดเป็นการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนภาคเอกชนแม้กองทุนวายุภักษ์จะได้รับการจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
ปัจจุบัน THAI เป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย โดย ณ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 63 แห่งทั่วโลก ด้วยเที่ยวบินจำนวน 619 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยความสามารถในการบรรทุกซึ่งวัดจากจำนวนที่นั่ง-กิโลเมตรของบริษัทเพิ่มขึ้น 1% สู่ระดับ 79,231 ล้านที่นั่ง-กิโลเมตรในปี 2555 บริษัทมีสถานะทางการตลาดในเส้นทางการบินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งแม้ว่าจะปรับลดลง โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในด้านจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติต่าง ๆ ของประเทศไทยลดลงจาก 34.1% ในปี 2554 เป็นระดับ 33.6% ในปี 2555 เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินอื่น ๆ โดยเฉพาะสายการบินจากตะวันออกกลางและสายการบินภูมิภาคอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้น 3.9% เป็นระดับ 13.2 ล้านคนในปี 2555
สำหรับการบินภายในประเทศนั้น ปริมาณการจราจรทางอากาศโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่สายการบินต้นทุนต่ำเริ่มให้บริการในประเทศไทยในปี 2546 ทำให้จำนวนผู้โดยสารทั้งระบบเพิ่มขึ้นจาก 7.2 ล้านคนในปี 2546 มาอยู่ที่ 15.4 ล้านคนในปี 2555 กระนั้นส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงจาก 85% ในปี 2546 เหลือ 36% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้น 16.8% สู่ระดับ 6.1 ล้านคนในปี 2555 ซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 39.8%
ในปี 2555 ธุรกิจการบินภายในประเทศสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเพียง 10% ของรายได้รวม การมีต้นทุนดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงกว่าสายการบินต้นทุนต่ำทำให้บริษัทต้องกำหนดกลยุทธ์ที่จะเพิ่มกำไรโดยการลดจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศที่มีผลประกอบการขาดทุนและเปิดโอกาสให้สายการบินราคาประหยัดที่เป็นพันธมิตรของบริษัทคือ “นกแอร์" เป็นผู้ให้บริการแทน นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดให้บริการสายการบินระดับกลางภายใต้ชื่อ “ไทยสไมล์" ในช่วงกลางปี 2555 ซึ่งเน้นให้บริการแก่กลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางด้วย โดยไทยสไมล์จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดจากสายการบินต้นทุนต่ำอื่น ๆ ทั้งในเส้นทางการบินภายในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย
บริษัทมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 6.2% เป็น 76.6% ในปี 2555 เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการรณรงค์ส่งเสริมการขายแบบเชิงรุก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น 16.8% เป็น 20.3 ล้านคนในปี 2555 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ก็ลดลงจากระดับ 56.2% ในปี 2554 เป็น 54.2% ในปี 2555 ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
ในปี 2555 ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นและราคาน้ำมันเครื่องบินที่มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงยังคงมีผลจำกัดการปรับเพิ่มราคาค่าโดยสารและค่าชดเชยน้ำมัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 9.9% ในปี 2554 เป็น 13.5% ในปี 2555 และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.5 เท่าในปี 2554 เป็น 4.3 เท่าในปี 2555
ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ปรับปรุงดีขึ้นจาก 11.0% ในปี 2554 เป็น 15.5% ในปี 2555 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 70% ในปี 2554 และ 2555 ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นต่อไปในระยะปานกลางเนื่องจากบริษัทมีภาระลงทุนค่อนข้างสูงอันเกิดจากการจัดหาเครื่องบินใหม่ แต่บริษัทจะได้ประโยชน์จากการจัดหาเครื่องบินใหม่ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการบินที่เพิ่มขึ้น หรือปริมาณการใช้น้ำมัน และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่ลดลง