นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานกรรมการบริหาร ITD กล่าวว่า ตั้งแต่ปีนี้เชื่อว่าเป็นช่วงโอกาสที่ดีของบริษัท โดยคาดว่าการรับรู้รายได้จะปรับตัวดีขึ้นและผลประกอบการจะดีขึ้นด้วย เนื่องจากงานใหม่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีในระดับ 10% โดยคาดว่าจะทำให้ปีนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นเกิน 10% จากปีก่อนอยู่ระดับ 11% ส่วนอัตรากำไรสุทธิสูงขึ้นเป็นราว 2-3% จากปีก่อนที่ 1% เนื่องจากงานเก่าที่ไม่ค่อยมีกำไรหมดไปแล้ว
สำหรับงานใหม่ทั้งงานในโครงการทวาย ช่วงแรกในปี 56-57 คาดว่าจะมีมูลค่างานไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นงานสร้างถนนและท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งบริษัทคาดว่าจะมีส่วนร่วมในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของภาครัฐ ที่บริษัทคาดหมายว่าจะได้งานราวครึ่งหนึ่ง และงานบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ขณะนี้เหลือคู่แข่งน้อยรายแล้ว
นายเปรมชัย กล่าวว่า ขณะนี้โครงการทวายมความคืบหน้าแนวทางการลงทุน โดยปรับเปลี่ยนให้โฮลดิ้งคัมปะนีในรูปแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ(SPV) เป็นผู้รับสัมปทานแทน บริษัท ทวาย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด(DDC) ซึ่งจะมีรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าเป็นผู้ถือหุ้นหลักฝ่ายละ 30% ส่วนที่เหลืออีก 40% อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมทุนรายอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน
ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งบริษัทย่อย(SPC) 8 บริษัท ตามกิจกรรมธุรกิจ ได้แก่ ท่าเรือ, ถนน, ผลิตไฟฟ้า, ผลิตน้ำและบำบัดน้ำเสีย, นิคมอุตสาหกรรม, สื่อสารโทรคมนาคม และ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย SPV เป็นผู้วางนโยบายการจัดการ และรัฐบาลไทยจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ร่วมทุนแต่ละ SPC โดยกระทรวงการคลังจะส่งรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมทุนในทุก SPC เช่น บมจ.ทีโอที การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น ขณะที่ ITD จะถือหุ้นในแต่ละ SPC ไม่น้อยกว่า 25% โดยจะแปลงเงินลงทุนที่ใช้ไปแล้ว 200 ล้านเหรียญสหรัฐกระจายในแต่ละ SPC ภายในเดือน มี.ค.คาดว่าจะได้ข้อสรุป และน่าจะจัดตั้งได้ภายในปลายปีนี้
"การจัดตั้งรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้ลงทุนมั่นใจและญี่ปุ่นมั่นใจปล่อยเงินกู้ การมอบสิทธิสัมปทานให้ SPV ไม่ได้หมายความว่าเราออกจากโครงการ แต่เรา(ITD)เปลี่ยนสภาพจากผู้พัฒนาโดยตรงมาเป็นผู้ลงทุนในบริษัทดำเนินการ(SPC)...การเป็นลักษณะ G to Gมั่นคงกว่า เมื่อมีรัฐบาลมาเกี่ยวข้องนักลงทุนก็มีความมั่นใจ" นายเปรมชัยกล่าว
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนนและท่าเรือเฟสแรกในโครงการทวาย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2,500 ล้านเหรียญ โดยจะใช้จากส่วนทุน 30% ของเงินลงทุนดังกล่าว หรือจำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง ITD จะลงทุน 150 ล้านเหรียญ (หรือ 15% ของ 600 ล้านเหรียญ) ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการให้เงินกู้ในสัดส่วน 80%ของเงินลงทุน
นายเปรมชัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการพื้นที่โซนอุตสาหกรรมขั้นต้นจำนวน 5 พันไร่ ไว้รองรับอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่จะถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศูลกากร(จีเอสพี)จากคู่ค้าย้ายเข้ามาในนิคมฯทวาย เช่น สิ่งทอ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ อาหาร เป็นต้น ซึ่งจะเร่งรัดให้เสร็จและเริ่มทำธุรกิจภายในปี 57 โดยได้ยื่นขอให้รัฐบาลพม่าอนุญาตเข้าพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว และจะตั้งโรงไฟฟ้าจากก๊าซ LNG ขนาด 280 เมกะวัตต์เข้าไปรองรับ ส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยรวม 7 พันเมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินน่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 ปี
ITD จะลงทุนสำหรับโซนแรกจำนวน 2 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้ 70% จากสถาบันการเงินในประเทศที่ให้เงินกู้ตามแต่ละโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL)ให้กู้สร้างโรงไฟฟ้า ธนาคารกรุงไทย(KTB)ให้กู้ในโครงการนิคมอุตสาหกรรม และธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)ให้กู้โครงการท่าเรือและถนน ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ให้กู้โครงการน้ำ
"เราอยากได้งานรับเหมาทั้งหมดในโครงการในทวาย เรารู้ว่าเป็นโอกาสที่ดี การได้งานก่อสร้างและบริหาร เราก็ Happy อยู่แล้ว ทวายไม่ใช่ทำเฉพาะถนน ท่าเรือ และ Infrastructure ในนิคมฯเยอะมากเป็นสิ่งที่เราถนัด เรามีความชำนาญ"นายเปรมชัย กล่าว