"สัญญา 4 เรื่องเดินรถอาจทำให้หลุดจากแผน การเจรจายังไม่จบ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ รฟม.เหลือเวลาอีก 32 เดือน...ตอนนี้ที่เป็นอยู่คือ delay ไปเป็นกรกฎาคม 59 แต่ถ้าเป็นตุลาคม 58 ก็ต้องเร่งเจรจาให้เร็วขึ้น ซึ่งขึ้นกับ ครม.ในทางเทคนิคเร่งเอกชนดำเนินการให้เร็วขึ้น"ผู้ว่า รฟม.กล่าว
ขณะเดียวกัน การเดินรถช่วงสถานีบางซื่อไปยังสถานีเตาปูน หรืออีก 1 สถานีนั้น รฟม.จะให้ BMCL เป็นผู้เดินรถโดยทำเป็นสัญญาแนบท้ายต่อสัญญาเดิม(สายสีน้ำเงิน 20 กม.) แต่จะกำหนดให้หมดอายุสัญญาเท่ากันที่ปี 72 และรฟม.จะรับเป็นส่วนแบ่งรายได้เหมือนสัญญาเดิมที่เป็นแบบ PPP net cost เพราะสมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและไม่ยุ่งยากในทางปฏิบัติทั้งผู้โดยสารและคนเดินรถ รวมถึง รฟม.ด้วย โดยสถานีเตาปูนเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางสายสีม่วงและสีน้ำเงิน
ทั้งนี้ รฟม.จะต้องลงทุนงานระบบไฟฟ้าจำนวน 500 ล้านบาทเท่านั้น โดยไม่ต้องซื้อรถใหม่และรางรถไฟฟ้ามีอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้วรอเข้า ครม.ส่วน BMCL ยังไม่ตอบรับกลับมา
นายยงสิทธิ์ คาดว่า รฟม.จะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กม. มูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 35 กม.มูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองสายได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว รอการอนุมัติงานก่อสร้างจาก ครม. ซึ่งจากแผน ครม.จะอนุมัติสายสีเขียวในเดือน มี.ค.56 มีการประมูลในเดือน ส.ค.56 และเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ค.57 ส่วนสายสีชมพู ตามแผน ครม.อนุมัติเดือน ก.พ.56 เปิดประมูลเดือน ก.ค.56 และเริ่มงานก่อสร้างเดือน พ.ค.57
สำหรับงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ นายยงสิทธิ์ กล่าวถึงปัญหาการก่อสร้างช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรีว่า มีประชาชนออกมาคัดค้าน 2 กรณี คือ การกำหนดพื้นที่เวนคืนเพื่อก่อสร้างสถานีราชปรารภ และการก่อสร้างสถานีและอุโมงค์รถไฟฟ้าบริเวณชุมชนประชาสงเคราะห์
โดยกรณีแรก รฟม.เตรียมที่จะเข้าเจรจากับผู้อยู่อาศัยที่ทำการค้าที่ได้รับผลกระทบจำนวน 80 ราย โดยยินดีจ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้ในราคาที่มีการซื้อขายจริง ซึ่งสูงกว่าราคาประเมิน รวมทั้งได้เตรียมมาตรการเยียวยาผลกระทบทางการค้าไว้แล้ว ด้วยการเตรียมจัดสร้างศูนย์การค้าขนาดย่อมทั้งในส่วนของใต้ดินและบนดินในสถานี รอบๆ บริเวณดังกล่าวจัดสรรให้ผู้ได้รับผลกระทบเช่าทำการค้าในราคาถูก ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ร้านค้าที่ถูกเวนคืนสามารถกลับมาทำการค้าได้ตามปกติในทำเลที่ดีขึ้น
ส่วนกรณีที่ 2 รฟม.ได้ปรับแบบการก่อสร้างใหม่เพื่อลดพื้นที่ในการเวนคืน โดยก่อสร้างแบบขุดเปิดหน้าดินแล้วกลบ(Cut&Cover)ซึ่งช่วยลดผลกระทบจำนวนผู้ถูกเวนคืนจากแบบเดิมหรือตามแผนแม่บท จาก 303 ราย เหลือ 210 ราย รวมทั้งเตรียมมาตรการเยียวยาให้กับผู้อยู่อาศัยโดยเตรียมสร่างที่อยู่อาศัยใหม่ในรูปแบบของคอนโดบริเวณใกล้กับสถานีให้ผู้ได้รับผลกระทบได้กลับเข้ามาอยู่อาศัยตามเดิม
นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีมส้มคาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ในเดือน มิ.ย.56 การก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะเรก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี คาดว่าจะจัดจ้างผู้รับเหมาได้ในช่วงเดือน พ.ย.56-ก.ย.57 เริ่มงานก่อสร้างเดือน ต.ค.57 และเปิดเดินรถเดือน ม.ค.62 ส่วนระยะที่ 2 ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ คาดว่าจะจัดจ้างผู้รับเหมาในช่วงเดือน เม.ย.57-ก.พ.58 เริ่มงานก่อสร้างเดือน มี.ค.58 และเปิดเดินรถเดือน ต.ค.62