สำหรับหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 81.8 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศร้อยละ 78.7 และเที่ยวบินภายในประเทศร้อยละ 82.9
ด้านการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ยังคงได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว เป็นผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (Revenue Freight Ton-Kilometers : RFTK) ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 ในขณะที่ปริมาณการผลิต (Available Dead Load Ton-Kilometers : ADTK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ส่งผลให้มีอัตราส่วนการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยร้อยละ 51.4 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ยร้อยละ 54.1
นายดนุช บุนนาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ THAI เปิดเผยว่า ภาพรวมราคาค่าตั๋วโดยสารภายในประเทศทั้งสายการบินไทย และสายการบินต้นทุนต่ำปีนี้สูงกว่าปีก่อนประมาณที่นั่งละ 200-300 บาท เนื่องจากปีก่อนทุกสายการบินออกโปรโมชั่นลดราคา เพราะกังวลผู้โดยสารน้อยจากผลกระทบน้ำท่วม ขณะที่ปีนี้เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น สายการบินต่างๆ ยังไม่มีโปรโมชั่นออกมามากนัก โดยช่วงสงกรานต์นี่การบินไทยจะลดค่าโดยสารสำหรับเที่ยวบินกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ 11-12 เม.ย.นี้ ในอัตราประมาณ 30-40% เพื่อกระตุ้นการเดินทางและส่งเสริมให้ผู้โดยสารต่างจังหวัดเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ
"ปริมาณการขนส่งภายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนภาพรวมเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศปีนี้อยู่ในระดับดี เส้นทางยุโรปดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ตอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 98% บางเที่ยวเต็ม 100% ขณะที่เส้นทางเอเชียทั้งญี่ปุ่นและจีนอยู่ในระดับดี คาดอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ย 76-78% ขณะที่กำไรต่อหน่วยน่าจะเพิ่มขึ้น 3-5% และเชื่อว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าที่สูงขึ้น 12%" นายดนุช กล่าว
ส่วนเรื่องค่าเงินในเส้นทางที่เงินอ่อนค่า เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกานั้น การบินไทยได้ปรับแผนรับมือด้วยการให้ความสำคัญในการจองที่นั่งสำหรับผู้โดยสารไทยเพิ่มขึ้น เพราะเงินบาทแข็งกว่า เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ญี่ปุ่น ปกติให้สัดส่วนผู้โดยสารจากญี่ปุ่น 70% ไทย 30% ก็ปรับเป็น 60:40 ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละเส้นทาง อย่างไรก็ตาม เส้นทางญี่ปุ่นถือเป็นเส้นทางหลักที่ทำรายได้ให้การบินไทย โดยการบินไทยทำการบินสัปดาห์ละ 64 เที่ยวบิน