(เพิ่มเติม) ที่ปรึกษาฯ คาด ซีเค พาวเวอร์-อมตะ วีเอ็น ขายหุ้น IPO ราว พ.ค.56

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 18, 2013 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ ภัทรดิลก กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน(FA) บมจ.ซีเค พาวเวอร์ คาดว่า ซีเค พาวเวอร์ จะเสนอขายหุ้น IPO ในเดือน พ.ค. 56 เช่นเดียวกับนายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.โอเอสเค (ประเทศไทย)ในฐานะ FA ของ บมจ. อมตะวีเอ็น ก็คาดว่าจะเสนอขายหุ้น IPO ในราวเดือน พ.ค.56 เช่นกัน

ขณะที่นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะวีเอ็น กล่าวว่า จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น Free float 25% โดยการระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำไปลงทุนโครงการ Amata Express City ในเวียดนาม ซึ่งเป็นทั้งนิคมอุตสาหกรรม เน้นอุตสาหกรรมไฮเทค และ Urban township บนพื้นที่ 1,245 เฮกตาร์ อายุเช่า 50 ปี โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินกิจการอย่างละครึ่ง

โครงการดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตการลงทุนหลังได้ยื่น Master plan ให้กับรัฐบาลเวียดนามพิจารณา โดยพื้นที่ของโครงการอยู่ใกล้นครโฮจิมินห์ ซึ่งมีระยะทางใกล้กว่าโครงการแรกของบริษัทที่อยู่ในจังหวัดดองใน มีพื้นที่ 700 เฮกตาร์ ขณะนี้เหลืออายุการเช่า 31 ปี โดยแบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 70% และ เป็น township 30% ทั้งนี้มีลูกค้าจากญี่ปุ่นเป็นหลัก

ส่วนนางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ กล่าวว่าจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 220 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5 บาท/หุ้น คิดเป็น Free float 20% โดยจะนำเงินไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า SPP ,เชียงรายโซลาร์ และบางเขนชัย โซลาร์ รวมทั้งนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน

นอกจากนี้ บริษัทมีโครงการในอนาคต จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำบาก 1 ซี่งอยู่ใกล้โครงการน้ำงึม 2 กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ ขายไฟทั้ง 100% ให้กับรัฐบาลลาว ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาค่าไฟฟ้า, โครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฝผ.) 95% และ 5% ขายให้ลาว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62

และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม SPP กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ อยู่ในนิคมบางปะอิน (แบ่งขายให้ กฟผ. 90 MW ที่เหลือ ขายให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม) และพลังงานไอน้ำ 20 ตัน/ชม.ขายให้โรงงานในนิคมฯ จากปัจจุบัน ซีเค พาวเวอร์ มีกำลังผลิตรวม 424.9 เมกะวัตต์(ตามสัดส่วนการถือหุ้น)

"ซีเคพาวเวอร์เป็น Holding company ที่ CK วางเป็น Flagship การลงทุนด้านพลังงาน เราสามารถนำ Asset ดีๆ มารวมกัน บริหารและกระจายความเสี่ยง และสร้าง value added คาดว่าหลังจดทะเบียนเข้าตลาดจะมีเสียงตอบรับที่ดี"นางสาวสุภามาส กล่าว

นางสาวสุภามาส กล่าวว่า ซีเค พาวเวอร์เป็นโฮลดิ้งคัมปะนีธุรกิจไฟฟ้าเป็นบริษัท low risk, high growth โดยราคาขายไฟฟ้ามีการตกลงเป็นราคาคงที่ในระยะยาว จึงมีรายได้ที่มั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งมีโอกาสเติบโตสูง เชื่อว่าบริษัทยังมีโอกาสขยายการลงทุนได้อีก จากการคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยใน 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มจาก 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 5.2 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ไทยมีแผนการผลิต 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ในอีก 20 ปี นอกจากนี้ ซีเค พาวเวอร์จะพัฒนาพลังงานสะอาดพร้อมกันไปด้วย ได้แก่ พลังงานลม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ