สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น ILB283A (อายุ 15.0 ปี) LB176A (อายุ 4.3 ปี) และ LB155A (อายุ 2.2 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 27,104 ล้านบาท 23,080 ล้านบาท และ 19,411 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13402A (อายุ 14 วัน) CB13411C (อายุ 28 วัน) และ BOT161A (อายุ 3 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 39,078 ล้านบาท 26,793 ล้านบาท และ 24,416 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รุ่น CPF163A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 1,153 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เมอร์เซเดส — เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น MBTH145A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 655 ล้านบาท และ หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 602 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น / ลดลงในช่วงประมาณ -1 ถึง+2 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ทั้งนี้ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากในช่วงนี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระทบตลาด อย่างไรก็ตามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Rating ได้ปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยจาก “BBB” เป็น “BBB+” และพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นจาก F3 เป็น F2 อย่างไรก็ตาม ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินในประเทศไว้ที่ระดับ “A-” เช่นเดิม โดยการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากเศรษฐกิจของไทยที่ขยายตัวดีขึ้น และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวจากสถานกาณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมไปถึงการที่ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางด้านราคา โดยสามารถรักษาระดับเงินเฟ้อไว้ให้อยู่ระดับต่ำต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี
อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ มีผลดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และยังมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน หรืออยู่ที่ 29.56 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 57,779 ล้านบาท แต่หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) จะพบว่าเป็นการซื้อสุทธิ 33,937 ล้านบาท ทางด้านของนักลงทุนรายย่อยที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการลงทุนค่อนข้างน้อย แต่ยังคงมียอดซื้อสุทธิอีก 1,049 ล้านบาท